วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง


               สถิติของกรมควบคุมโรคพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยปีนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งประเทศประมาณ 6,000 คน ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์แนะควรรณรงค์ส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพราะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด

               วันที่ 21 ก.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โรคเอดส์ของไทยในปัจจุบัน คาดว่าปี 2559 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 444,900 คน ในจำนวนนี้ได้รับการวินิจฉัยและรู้สถานะการติดเชื้อของตัวเองแล้ว 410,576 คน ในจำนวนนี้ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส 307,667 คน คิดเป็นร้อยละ 68.5 แม้ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 150,000 คนในปี 2535 ลดลงเหลือกว่า 6,000 คนในปี 2560 แต่มีการตั้่งเป้าว่าในปี 2573 จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงเหลือ 1,000 คน

               แม้ว่าในกลุ่มประชากรทั่วไปความชุกของการติดเชื้อจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในกลุ่มประชากรหลัก ยังคงสูงและมีแนวโน้มไม่ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด มีความชุกการติดเชื้อร้อยละ 20.5, สาวประเภทสองร้อยละ 12.7 และกลุ่มพนักงานบริการชาย ร้อยละ 11.9, กลุ่มชายรักชาย ร้อยละ 9.2, กลุ่มพนักงานบริการหญิงที่ไม่มีหลักแหล่ง ร้อยละ 2.2 และกลุ่มพนักงานบริการหญิงที่มีหลักแหล่ง มีความชุกการติดเชื้อร้อยละ 1.9


ใช้ถุงยางอนามัยลดความเสี่ยงติดเชื้อ "เอชไอวี"


               นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ผู้ซื้อบริการทางเพศใน จ.สมุทรสาคร ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งควรรณรงค์ส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพราะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด และยังเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนการแจกถุงยางอนามัย ส่วนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงควรไปตรวจหาเชื้อเอชไอวี ซึ่งสามารถตรวจได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง ที่หน่วยบริการทางการแพทย์

               แม้ถุงยางอนามัยจะเป็นวิธีลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ดีที่สุด แต่การตัดงบประมาณแจกถุงยางอนามัยเหลือ 50 ล้านชิ้นต่อปีในปัจจุบัน ทำให้นายนิมิตร์มองว่าอาจกระทบต่อการป้องกันโรค ทั้งๆ ที่ควรแจกถุงยางอนามัย 200 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่ง นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่ามีงบประมาณเพียงพอในการแจกถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันและควบคุมโรค

               รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า แม้การค้าประเวณีจะผิดกฎหมาย แต่คนกลุ่มนี้ต้องเข้าถึงการรับบริการทางการแพทย์ ไม่ต่างจากบุคคนกลุ่มอื่น ผู้ติดเชื้อมีสิทธิในการรักษา ขณะเดียวกัน ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อบริการทางเพศ ต้องใช้ถุงยางอนามัย





วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560

โภชนาการสำหรับผู้ป่วย HIV/AIDs

โภชนาการสำหรับผู้ป่วย HIV/AIDs




               อาหารที่รับประทานตามปกติอาจจะเพียงพอที่จะให้คุณค่าทางโภชนาการแก่ผู้ติดเชื้อ HIV อยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยโรคเอดส์มักจะมีอาการเบื่ออาหารและทานอาหารได้ยากเนื่องจากแผลในปากและคอ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาอาจส่งผลให้กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายโดยเฉพาะไขมันมีการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ผู้ป่วยควรจะต้องรับประทานให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายพร้อมต่อสู้กับภาวะความเจ็บป่วย และทดแทนน้ำหนักที่สูญเสียไป อาหารที่รับประทานควรจัดให้ครบหมู่และมีความสมดุล และเลือกรับประทานชนิดอาหารในแต่ละวันให้หลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มของอาหาร ได้แก่

               อาหารกลุ่มแป้ง: เช่น ข้าว ขนมปัง ธัญพืช เผือก เป็นต้น จะให้พลังงานแก่ร่างกาย รวมถึงเกลือแร่ วิตามินและกากใยอาหาร ผู้ป่วยควรทานอาหารกลุ่มนี้ในทุกมื้ออาหาร โดยทานวันละ 4-6 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับข้าวหนึ่งถ้วย หรือขนมปัง 1 แผ่นหรือธัญพืช เช่น ซีเรียล 1 ชาม)

               ผักและผลไม้: ให้วิตามิน เกลือแร่ และ กากใยอาหาร ควรรับประทานทุกวัน วันละ 5 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับผลไม้ 1 ผล หรือผักสดชามใหญ่ หรือผลไม้แห้ง 1 ถ้วย หรือน้ำผลไม้คั้นสด 1 แก้ว)

               เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว: ให้ทั้งโปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน ทานวันละ 2-3 ส่วนทุกวัน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับไข่ 2 ฟองเล็ก หรือเนื้อหมู ไก่ 100 กรัม หรือ เนื้อปลา 150 กรัม)

               ผลิตภัณฑ์จากนม: เช่น นมสด โยเกิร์ต เนยแข็ง ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ และแคลเซียม ควรทานวันละ 3 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับนม 1 แก้ว หรือโยเกิร์ต 1 ถ้วย หรือเนยแข็ง 1 แผ่น)

               ไขมัน: จากน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เนย เนยเทียม รวมถึงไขมันที่อยู่ในเนื้อสัตว์ ซึ่งจะให้พลังงาน กรดไขมันที่จำเป็น วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามิน A, D, E, K แคลเซียมและฟอสเฟต อย่างไรก็ดีหากทานอาหารพวกไขมันมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะโรคอ้วน และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ น้ำมันจากปลาซึ่งมีกรดไขมัน omega-3 สามารถช่วยลดระดับไขมันที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่น triglycerides และ LDL cholesterol และเพิ่ม HDL cholesterol ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายได้


               เนื่องจากผู้ป่วยอาจทานอาหารได้ยาก การเปลี่ยนรูปแบบการทานจากมื้อใหญ่ๆ มาเป็นมื้อเล็กๆ แต่ทานบ่อยๆ จะช่วยให้ทานได้ง่ายขึ้น กระเพาะอาหารดูดซึมสารอาหารได้และควรทานอาหารอ่อนๆ ที่ทานได้คล่องคอร่างกายของผู้ติดเชื้อ HIV ที่ยังไม่แสดงอาการ จะมีความต้องการพลังงานจากอาหารมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 10% เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่และจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 20-30% เมื่อเริ่มแสดงอาการหรือเป็นโรคเอดส์แล้ว ส่วนผู้ป่วยเด็กที่น้ำหนักตัวเริ่มลดจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50% เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเพียงพอที่จะยืนยันปริมาณโปรตีนและไขมันที่ต้องการเป็นตัวเลขชัดเจน เมื่อติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยอาจต้องทานอาหารกลุ่มโปรตีนมากขึ้น 50-100% ของปริมาณปกติ คือประมาณ 85 กรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 72 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง เพื่อช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อที่สูญเสียไป และควรมีอาหารกลุ่มที่ให้พลังงานเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำหนักตัว วิตามินและเกลือแร่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแต่ก็ควรจะได้มาจากการทานอาหารให้เพียงพอ เพราะการทานวิตามินเสริมปริมาณสูง เช่น วิตามินเอ สังกะสีหรือเหล็ก อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้


โภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่ทานยาต้านไวรัสเอดส์


               ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์มักจะพบผลข้างเคียง คือภาวะผิดปกติของไขมัน (lipodystrophy) โดยรูปร่างของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลง ไขมันในเลือดสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจหรือเบาหวานได้ เมื่อผู้ป่วยเริ่มได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ ควรจะลดอาหารกลุ่มไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ซึ่งจะมีมากในกลุ่มเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันปาล์มและมะพร้าว เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูง จะต้องปรับอาหารโดยเน้นการทานผักและผลไม้ ประมาณ 5 ส่วนต่อวัน ร่วมกับการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งจะช่วยเสริมการสร้างกล้ามเนื้อและผ่อนคลายความเครียดและทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น


อาหารเสริม


               ผู้ติดเชื้อ HIV จำนวนมาก หันมาทาน วิตามิน อาหารเสริม รวมถึงยาสมุนไพรมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ภูมิต้านทานในร่างกายดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะคงไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อเริ่มให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ผู้ป่วยอาจทานอาหารเสริมหลากหลายชนิด และเปลี่ยนแปลงชนิดบ่อยๆ ทำให้การติดตามผลเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามมีการศึกษาบางอย่างชี้ว่าอาหารเสริมบางชนิดมีผลต่อการรักษา เช่น สารสกัดจากกระเทียมซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจ มีผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้วยยา Saquinavir ลดลง และอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม Protease inhibitor ตัวอื่นๆ เช่นกัน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สมุนไพร St. John’s wort ซึ่งใช้มากในต่างประเทศ พบว่ามีผลลดระดับยาในเลือดของ Indinavir ซึ่งเป็นยากลุ่ม Protease inhibitor เช่นกัน และอาจส่งผลต่อยากลุ่ม NNRTIs ด้วย


               ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยบางกลุ่มสนใจใช้สมุนไพรหลายชนิดรักษาเสริมกับการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ แต่ทั้งนี้พึงระลึกเสมอว่าสมุนไพรก็มีสารซึ่งอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลงการรักษาของยาได้เช่นกัน ทางที่ดีหากจะใช้สมุนไพรร่วมในการรักษาก็ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลการรักษาทราบ เพื่อติดตามผลด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560

คนกรุงฯ เป็นเอดส์เฉียด 8 หมื่นราย เฉลี่ย เพิ่มขึ้นวันละ 6 คน

คนกรุงฯ เป็นเอดส์เฉียด 8 หมื่นราย 

เพิ่มขึ้นวันละ 6 คน


        สำรวจพบเกือบ 8 หมื่นคนในกรุงเทพเป็นเอดส์ ผู้ป่วยใหม่วันละ 6 คน เจอในกลุ่ม "ชายรักชาย" มากสุด กทม.เร่งรณรงค์ปี 63 ตั้งเป้าลดเหลือวันละ 2 คน

        เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธุ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ครั้งที่ 1/2560 จากนั้นเปิดเผยว่า โรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่กทม.ได้ให้ความสำคัญติดตาม เฝ้าระวังและพยายามดำเนินการ เพื่อลดอัตราการเกิดโรคต่อประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาพแวดล้อมของเมือง สื่อต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดการยั่วยุทางเพศมากยิ่งขึ้น
 
        โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอัตราความเสี่ยงของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเพิ่มมากขึ้นซึ่งปัญหาดังกล่าว ล้วนเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคมที่เกิดตามมาในหลายๆด้าน ดังนั้น กทม.จึงต้องพยายามสร้างความตระหนักถึงปัญหาและวางแนวทางแก้ไข ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในพื้นที่กรุงเทพฯให้ได้มากที่สุด 

        ทั้งนี้ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปี 2560 มีการสำรวจ
ผู้ติดเชื้อจำนวน 77,970 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,205 รายต่อปี ซึ่งผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้น จะเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 6 ราย โดยในกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่จะอยู่ในกลุ่มของเด็กและเยาวชนอายุ 14-24 ปี มากที่สุด และเป็นกลุ่มชายรักชายมากถึง 68 เปอร์เซ็นต์

        นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ที่มีจำนวนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นกทม.จึงต้องเร่งการลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้เกิดผลสำเร็จโดยตามเป้าหมายการทำงานนั้นในปี 2563 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในกรุงเทพฯจะต้องลดจำนวนลง จาก 2,000 รายต่อปี เหลือประมาณ 900 รายต่อปี หรือ 2.4 รายต่อวันและในปี 2573 ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะต้องลดลง เหลือแค่ไม่เกิน 500 รายต่อปี ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อรายเก่า ก็จะต้องส่งเสริมให้เข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว 

        เนื่องจากเชื้อเอชไอวีหากไม่ได้รับยาต้านไวรัสภายใน 3-10 ปีจากการรับเชื้อ ก็จะส่งผลต่อร่างกายสู่การเป็นโรคเอดส์ในที่สุด แต่หากได้รับยาต้านไวรัสอย่างเหมาะสมทันเวลา ผู้ติดเชื้อก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

         อย่างไรก็ตามการบริการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี บริการยาต้านไวรัส หากเป็นประชาชนทั่วไป สามารถเข้ารับบริการดังกล่าวได้ฟรีได้ที่ศูนย์สาธารณะสุขของกทม.ทั้ง 68 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดกทม.หรือโรงพยาบาลของรัฐอื่นๆ แต่หากเป็นกลุ่มผู้ไร้สิทธิ ไม่มีบัตรประชาชน สัญชาติหรือกลุ่มแรงงานต่างด้าวนั้น การรับยาต้านไวรัสยังไม่มีบริการอย่างเต็มที่ แต่กลุ่มบุคคลดังกล่าวก็ต้องได้รับการป้องกันดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งกทม.ได้เปิดให้บริการประชาชนกลุ่มผู้ไร้สิทธิแรงงานต่างด้าว ในการเข้ารับยาต้านไวรัสฟรี ได้ที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 26 เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เขตธนบุรี และศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี เขตคลองสาน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อบริการดูแลประชาชนกลุ่มไร้สิทธิอย่างเหมาะสมมากที่สุด


วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

20 ข้อแนะนำ ติดเอดส์แล้วทำไงดี


20 ข้อแนะนำ ติดเอดส์แล้วทำไงดี




เรามีวิธี ข้อปฎิบัติ ที่ดีๆ สำหรับผู้ติดเชื้อ ที่จะมานำเสนอ ให้ทุกคนนำไปปฎิบัติกัน




ไปหาหมอบ่อยๆ


เมื่อเรารู้ว่าเราได้รับเชื้อแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ หมั่นไปพบคุณหมอบ่อยๆ เพื่อเช็คอาการ เช็คค่า CD4 ว่าอยู่ในระดับไหน เสี่ยงเกินไปหรือป่าว หรือว่าปกติดี เพื่อการเตรียมตัว ในการดูแลตนเองต่อไป



อย่าหลบซ่อนตัวเอง


ผู้ติดเชื้อทุกคน สิ่งที่ไม่ควรทำเลยคือการหลีกหนีจากสังคม หรือหลบซ่อนตัวเอง เพราะมันจะไม่ดีกับจิตใจของตัวเอง และคนที่เขารักเราก็จะเป็นห่วงเราเอามากเลยนะ



พบปะพูดคุยกับผู้อื่นได้ตามปกติ


เราสามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ ไม่ต้องกังวลว่าเราอาจจะไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยที่ไม่ตั้งใจ เพราะเชื้อ HIV ไม่ได้ติดกันง่ายขนาดนั้น การติดหวัดยังติดกันง่ายกว่าอีก แต่ว่าผู้ติดเชื้อก็ควรระมัดระวังตัวเองให้ดีด้วยนะ



หาข้อมูลเกี่ยวกับโรค


เพื่อให้เรามีความรู้กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ และอยู่เป็น เพราะเชื้อ HIV เมื่อได้รับมาแล้ว ก็จะอยู่กับเราตลอดไป ดังนั้นเราจึงควรอยู่กับมันและควบคุมมัน อย่าให้มันทำร้ายเราได้



พบปะผู้ติดเชื้อรุ่นพี่


ผู้ติดเชื้อรุ่นน้องทุกคน ถ้าเป็นไปได้ควรไปศึกษาหากลุ่มที่รวมผู้ติดเชื้อไว้ด้วยกัน เพราะกลุ่มแบบนี้ จะเป็นกลุ่มคนที่คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จะทำให้รุ่นน้องแบบคุณมีความรู้ และกำลังใจมากมาย ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว



ระวังน้ำคัดหลั่งต่างๆ


เลือด น้ำเหลือง เหงื่อ หนอง น้ำตา น้ำมูก น้ำหรือของเหลวที่ออกมาจากร่างกายทุกอย่าง ผู้ติดเชื้อควรจะระวังมากๆ เมื่อไปสัมผัส ควรทำความสำอาดทันที



ระวังสิ่งขับถ่ายต่างๆ


ระวังสิ่งขับถ่ายต่างๆ ของร่างกาย เมื่อทำธุระเสร็จแล้ว ควรล้างทำความสะอาดให้ดี เพื่อสุขอนามัยของตัวผู้ติดเชื้อเอง และผู้อื่น



เมื่อสัมผัสน้ำต่างๆ ที่ออกมาจากร่างกาย 

ควรรีบทำความสะอาดทันที


ถึงจะมีปริมาณเชื้อไวรัสไม่เท่ากัน อาจจะมีมากมีน้อย ในกรณีต่างๆ ก็ไม่ควรละเลย หรือเพิกเฉย เมื่อไปสัมผัสโดน ควรรีบทำความสะอาดทันที



ใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ


อุจจาระและน้ำปัสสาวะมีปริมาณไวรัสที่น้อยมากจนไม่สามารถติดต่อกันได้ ดีไม่ดีโดนน้ำยาฆ่าเชื้อก็หงิกไปเลย ส่วนน้ำอสุจิหรือน้ำจากช่องคลอดก็ไม่สามารถอยู่ในห้องน้ำได้นาน แม้จะสัมผัสถูกผิวหนังบางส่วนนอกร่างกายก็ไม่สามารถผ่านสู่ร่างกายได้ อย่างไรก็ตามการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำทำความสะอาดเป็นครั้งคราวก็ช่วยได้เยอะ เพราะน้ำยาเหล่านี้เป็นตัวฆ่าเชื้อเอชไอวีโดยตรงทีเดีย


 ถ้วย ชาม จาน แก้ว ล้างให้สะอาด ทิ้งให้แห้ง


ถึงแม้ว่า การทานอาหารร่วมกัน จะไม่อันตรายมาก เพราะในน้ำลายมีปริมาณเชื้อไวรัสที่น้อยมาก แต่ก็ควรที่จะล้างจาน ชาม ให้สะอาด และ ทิ้งให้แห้งเสมอ


ไม่ใช้มีด กรรไกรตัดเล็บร่วมกับใคร


อุทาหรณ์สำหรับสาว ๆ ที่ชอบทำเล็บ เช็กให้ชัวร์ หากอุปกรณ์ไม่สะอาดอาจมีสิทธิ์ติดเชื้อ HIV ได้ ดังเช่นสาวบราซิลคนนี้ที่ติดเชื้อจากการใช้อุปกรณ์ทำเล็บของญาติ


ใช้ถุงยางทุกครั้งที่ทำเรื่องบนเตียง


ตามที่รู้ๆกัน ควรจะใช้ถุงยางทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์


งดการบริจากเลือด


เพราะในเลือด จะมีปริมาณเชื้อไวรัสที่เยอะมาก การบริจาคเลือด จะทำให้เราแพ่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายและเร็วมาก แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการตรวจเลือดผู้มาบริจาคกันทุกคนแล้ว


งดการบริจาคอวัยวะ


การปลูกถ่ายอวัยวะ เปลี่ยนไต, ปลูกถ่ายไขกระดูก, ผสมเทียม ที่ใช้อสุจิผู้อื่นที่ไม่ใช่สามี โดยไม่ตรวจเลือดเจ้าของอสุจิก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายทั้งสิ้นสำหรับผู้ติดเชื้อ


หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์


เพราะมีโอกาสที่ลูกจะได้รับเชื้อจากแม่จากหลายกรณี




พยายามไม่เข้าไกล้ผู้ป่วยโรคอื่นๆ


เพราะผู้ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันที่น้อย เสี่ยงต่าการได้รับเชื้อต่างๆง่าย


ไม่ควรเลี้ยงสัตว์


เพราะอาจจะมีการระคายเคืองหรือแพ้ และสัตว์บางชนิดก็ไม่ได้สะอาดมาก


ไม่ควรอยู่ในที่ๆสกปรก


เพราะผู้ติดเชื้อ HIV เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ ง่ายมากๆ


ไม่ควรทำความสะอาดสิ่งสกปรกมากๆ


เหตุผลเดียวกับข้อ 18


ไม่ควรยอมแพ้ต่อทุกสิ่ง


สำคัญที่สุด คือ การไม่ยอมแพ้ เพราะจะทำให้ผู้ติดเชื้อ มีเหตุผล และกำลังในการดำเนินชีวิตต่อไป






วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ไวรัสโหลด (Viral load) คืออะไร BY BIM พระราม 3

ไวรัสโหลด (Viral load) คืออะไร 

             

               Viral load หมายถึง ปริมาณไวรัสในเลือด ซึ่งในที่นี้คือปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดนั่นเอง 

               การมีเชื้อเอชไอวีในเลือดมากอาจมีผลให้จำนวน CD4 ลดลงอย่างรวดเร็ว และมีความเสี่ยงสูงที่อาการของโรคจะรุนแรงขึ้น หรืออาจทำให้เกิดกลุ่มอาการโรคเอดส์ขึ้น 

               ในผู้ป่วยที่รับยาต้านไวรัสมักจะพบว่าจำนวน CD4 เพิ่มขึ้น ร่วมกับการลดลงของปริมาณไวรัส การติดตามปริมาณไวรัสจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ผลดีมาก น้อยเพียงไร 


การตรวจหาปริมาณไวรัสคืออะไร 


               การตรวจหาปริมาณไวรัส เป็นการประมาณจำนวนเชื้อเอชไอวีที่อยู่ในของเหลว เช่น น้ำเหลือง เลือด ซึ่งทำได้โดยการหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี ซึ่งเรียกว่า HIV RNA 

               ผลการตรวจหาปริมาณไวรัสจะแสดงเป็น จำนวน copies ของ HIV RNA ต่อมิลลิลิตร (หมายถึงจำนวนชิ้นส่วนพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี ซึ่งมีความใกล้เคียงกับจำนวนไวรัส) ตัวอย่างเช่น ปริมาณไวรัส 200 จะเขียนเป็น 200 copies/ml อย่างไรก็ตามแพทย์มักจะอธิบายผลปริมาณไวรัสโดยใช้เพียงตัวเลขเท่านั้น 

               การตรวจหาปริมาณไวรัสสามารถทำได้หลายวิธี การตรวจด้วยวิธีต่างๆจะใช้วิธีการที่ต่างกันในการหาจำนวนของเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตามวิธีการเหล่านี้จะให้ผลที่เชื่อถือได้ใกล้เคียงกัน โดยแสดงผลเป็นปริมาณไวรัสต่ำ ปานกลาง หรือสูง วิธี PCR (polymerase chain reaction) เป็นหนึ่งในหลายๆวิธีที่นำมาใช้อย่างแพร่หลาย 

               ในปัจจุบันการตรวจแบบความไวสูง (ultra-sensitive) ได้ถูกนำมาใช้ วิธีดังกล่าวสามารถตรวจพบปริมาณไวรัสได้ถึงแม้จะมีอยู่ในปริมาณที่น้อยเพียง แค่ 50 copies/ml หากผู้ป่วยมีปริมาณไวรัสต่ำกว่า 50 copies/ml มักจะเรียกเพียงแค่ undetectable ซึ่งหมายถึงไม่สามารถตรวจพบได้ โดยทั่วไปการมีผลตรวจเป็น undetectable ถือเป็นจุดหมายหลักของการรักษาด้วยยาต้านไวรัส 


ทำความรู้จักกับผลตรวจปริมาณไวรัส 


               ปริมาณไวรัสมากกว่า 100,000 copies/ml ถือว่ามีปริมาณไวรัสสูง ในขณะที่ผลที่ต่ำกว่า 10,000 copies/ml จะถือว่าต่ำ อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยไม่ได้รับยาต้านไวรัส การตรวจหาปริมาณไวรัสจะได้ผลไม่ค่อยคงที่เมื่อเปรียบเทียบในแต่ละครั้ง ซึ่งโดยมากผลดังกล่าวไม่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วยแต่อย่างใด

               การวิจัยโดยการตรวจหาปริมาณไวรัสในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัสพบว่าการตรวจ หาปริมาณไวรัสสองครั้งจากตัวอย่างเลือดอันเดียวกันจะให้ผลที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับยาต้านไวรัสจึงไม่ต้องกังวลหากพบว่าปริมาณไวรัสเพิ่มขึ้นจาก 5,000 ไปเป็น 15,000 copies/ml หรือแม้แต่การเพิ่มขึ้นจาก 50,000 ไปเป็น 100,000 copies/ml ก็ไม่ได้มีความสำคัญแต่อย่างใดหากผู้ป่วยไม่ได้รับยาต้านไวรัส ถึงแม้จะดูราวกับว่าปริมาณไวรัสเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวก็ตาม ค่าดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตที่การตรวจวัดสามารถผิดพลาดได้ 

               แทนที่จะสนใจเพียงแค่ค่าปริมาณไวรัสจากการตรวจในแต่ละครั้ง ผู้ป่วยควรจะสังเกตแนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของปริมาณไวรัส ในบางครั้งช่วงเวลาที่เจาะเลือดอาจมีผลต่อการตรวจหาปริมาณไวรัส และหากผู้ป่วยกำลังไม่สบายจากการติดเชื้อใดใดก็จะมีผลทำให้ปริมาณไวรัสสูง ขึ้นก่อนที่จะลดลงอีกครั้ง การฉีดวัคซีนก็อาจมีผลต่อปริมาณไวรัสเช่นกัน 

               ผู้ป่วยควรตั้งข้อสังเกตเอาไว้หากพบว่าปริมาณไวรัสที่ตรวจมีแนวโน้มสูงขึ้น ติดต่อกันหลายเดือน หรือหากพบว่าค่าที่เพิ่มขึ้นนั้นมีการเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่า ตัวอย่างเช่น การมีค่าเพิ่มขึ้นจาก 5,000 ไปเป็น 15,000 ไม่ถือว่ามีความผิดปกติแต่อย่างใด แต่หากพบว่ามีการเพิ่มขึ้นจาก 5,000ไปเป็น 25,000 แสดงว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น 


Undetectable viral load (ตรวจไม่พบปริมาณไวรัส) 


               การตรวจหาปริมาณไวรัสจะมีค่าที่ถูกเรียกว่า cut-off point (หมายถึงจุดต่ำสุดที่การวัดนั้นสามารถวัดได้) ค่าที่ต่ำกว่า cut-off point ถือว่าไม่สามารถเชื่อถือค่านั้นได้ ซึ่งอาจเรียกได้อีกอย่างว่า limit of detection (หมายถึงข้อจำกัดของการวัด) วิธีตรวจแบบ PCR จะมี limit of detection อยู่ที่ 50 copies/ml หากปริมาณไวรัสต่ำกว่านี้จะถือว่าเป็น undetectable ซึ่งหมายถึงตรวจไม่พบปริมาณไวรัสนั่นเอง 

               อย่างไรก็ตามแม้ว่าปริมาณไวรัสจะต่ำมากจนไม่สามารถตรวจพบได้ก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อ เอชไอวีหายไปจากกระแสเลือด ยังมีความเป็นไปได้ที่เชื้อเอชไอวีจะยังคงมีอยู่ในเลือดในปริมาณที่ต่ำมากๆ จนไม่สามารถตรวจวัดได้ (เนื่องมาจากข้อจำกัดของวิธีการตรวจวัด) และเนื่องจากการตรวจหาปริมาณไวรัสเป็นเพียงการตรวจหาไวรัสที่อยู่ในเลือดจึง มีความเป็นไปได้ที่ปริมาณไวรัสในตำแหน่งอื่นของร่างกาย เช่นที่ต่อมน้ำเหลืองหรือสารคัดหลั่งอื่นๆอาจมีมาก พอที่จะตรวจพบได้ 


การมีปริมาณไวรัสเป็น undetectable มีผลดีอย่างไร 


               มีเหตุผลสองประการหลักคือ หนึ่ง ค่าดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ำจากการเจ็บป่วยอันเนื่องมา จากเชื้อเอชไอวี สอง เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดการดื้อยาต้านไวรัส 

               เชื้อเอชไอวีจะเกิดการดื้อยาได้ก็ต่อเมื่อเชื้อยังสามารถเพิ่มจำนวนได้ตามปกติใน ขณะที่ผู้ป่วยทานยาต้านไวรัสอยู่ หากการเพิ่มจำนวนไวรัสถูกกดให้ต่ำลงมากๆ การที่จะเกิดการดื้อยาก็จะถูกชะลอออกไป หรือแม้แต่ไม่เกิดการดื้อยาขึ้นเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการรับยาต้านชนิดดังกล่าวยังคงให้ผลดีอยู่ 

               จากเหตุผลดังกล่าว แพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อเอชไอวีจึงตั้งเป้าหมายของการรักษา ไว้ที่การทำให้ปริมาณไวรัสเป็น undetectable ให้เร็วที่สุด เช่นภายใน 24 สัปดาห์ภายหลังเริ่มให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วย 

               ผู้ป่วยบางคนอาจใช้เวลาตั้งแต่ 3 ถึง 6 เดือนในการไปถึงจุดดังกล่าว ในขณะที่บางคนอาจใช้เวลาแค่ 4 ถึง 12 สัปดาห์ หรืออาจเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยบางคนไม่สามารถไปถึงจุดดังกล่าวเลย 


Viral load blips (การมีปริมาณไวรัสกระโดดสูงขึ้น) 


               ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีปริมาณไวรัสอยู่ในระดับ undetectable การตรวจในบางครั้งอาจพบว่ามีค่าสูงกว่า 50 copies/ml ไปเป็น 100 หรือ 200 copies/ml ก่อนที่จะหล่นกลับมาอยู่ที่ undetectable อีกครั้ง ปรากฎการณ์ดังกล่าวเรียกว่า Viral load blips ซึ่งไม่ได้บ่งว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสล้มเหลวแต่อย่างใด โดยมากการเกิด blips มักจะเป็นผลจากความผิดพลาดในการตรวจวัดโดยห้องปฏิบัติการ 


ปริมาณไวรัสในผู้หญิง


               ผู้หญิงมักจะมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าผู้ชายที่มีค่า CD4 ใกล้เคียงกัน ซึ่งปรากฏการณืดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อการดำเนินโรคแต่อย่างใดและ เหตุผลของปรากฏการณ์ดังกล่าวยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเป็นไปได้ว่าผู้หญิงมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่าหรือการเพิ่มจำนวนของไวรัสในผู้หญิงต่ำกว่าโดยธรร มชาติเอง 


Log viral load คืออะไร 


               ในบางครั้งปริมาณไวรัสอาจแสดงเป้นค่า log เนื่องมาจากค่าดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างได้ถึง 10 เท่า 

               โดยปกติค่าจะแสดงเป็น log ฐาน 10 นั่นคือ 1.0 log มีค่าเท่ากับ 10, 2.0 log มีค่าเท่ากับ 10 ยกกำลัง 2 ซึ่งก็คือ 100, 3.0 log จะเท่ากับ 1000, 4.0 log จะเท่ากับ 10000 และ 5.0 log จะเท่ากับ 100000 

               หากผู้ป่วยมีค่า 3.5 log ก็หมายความว่ามีปริมาณไวรัสมากกว่า 3.0 log ถึง 5 เท่า บางครั้งการใช้ค่า log จึงง่ายต่อการอ่านผลการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการดูเป็นจำนวน copies/ml 


สรุป 


               ไวรัสโหลด คือ จำนวนของไวรัสต่อเลือดโดยประมาณ 1 หยด เช่น ถ้าหมอบอกว่ามีไวรัส 5,000 ก็คือในเลือดเรามีไวรัสอยู่ 5,000 ตัวต่อเลือด 1 หยด ไวรัสต่ำกว่า 30,000 เรียกว่าน้อย 100,000 ขึ้นไปเรียกว่าเยอะ

               การตรวจหาไวรัสที่เขาตรวจกันก็เพื่อดูว่า CD4 เราจะตกลงเร็วแค่ไหน แบบว่าไวรัสเยอะก็ตกเร็วกว่าพวกไวรัสน้อย 


ที่มา : http://pha.narak.com/topic.php?No=15271
เขียน/เรียบเรียงโดย BIM พระราม 3
ขออนุญาตเผยแพร่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

CD4 คืออะไร BY BIM พระราม 3

CD4 คืออะไร


               CD4 คือ เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ควบคุมและต่อสู้กับเชื้อโรค และมีบทบาทในการสร้างสารภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค

               หากเปรียบร่างกายของเราเหมือนประเทศ ระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่เหมือนศูนย์บัญชาการของทหารหรือกระทรวงกลาโหม ที่คอยคุ้มกันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้ามารุกรานได้ และเพื่อดูแลคุ้มกันส่วนต่างๆของร่างกายได้ทั่วถึง ระบบภูมิคุ้มกันจะกระจายตัวเป็นต่อมน้ำเหลือง (lymph nodes) อยู่ตามจุดต่าง ๆ ตามรูป เหมือนค่าย ทหารเพื่อสะสมกำลังพล เมื่อต้องต่อสู้กับเชื้อโรคหรือข้าศึกที่เข้ามาในร่างกาย ค่ายทหารจะกระจายพลทหารหรือเม็ดเลือดขาวออกไปกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น แบคทีเรีย ไวรัส สารเคมี เป็นต้น

               เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ จะเข้ายึดจับและทำลายเม็ดเลือดขาว CD4 เมื่อทหารของร่างกายตายลงไปเรื่อยๆ ร่างกายก็จะขาดกำลังพลในการรบและพ่ายแพ้ต่อเชื้อโรคได้ง่าย

มาเรียนรู้กลไกการติดเชื้อ หรือกระบวนการก่อการร้ายของเอชไอวีกันเถอะ

               “ยึดเกาะ เจาะไข่ และสูบเลือดสูบเนื้อจากเซลล์เจ้าบ้าน” ถือเป็นคอนเซ็ปต์หลักในการทำงานของเอชไอวี เนื้อหาต่อไปนี้จะแสดงกลไกการติดเชื้อทั้ง 5 ขั้นตอน การเข้าใจถึงกลไกนี้จะช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของยาต้านไวรัสแต่ละประเภทด้วย

               1. เชื้อเอชไอวีเริ่มยึดเกาะเข้ากับผนัง CD4 โดยใช้หนามที่มีอยู่รอบ ๆ เซลล์แทงยึดที่เต้ารับของ CD4  จากนั้นจะเริ่มแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรการติดเชื้อ

               2. หลังจากที่ยึดเแน่นแล้ว เยื่อหุ้มเอชไอวีจะผสานเป็นหนึ่งเดียวกับเยื่อหุ้ม CD4 เมื่อเจาะเกราะหุ้ม CD4 ได้ เอชไอวีจะพุ่งเข้าไปในเซลล์ CD4 ทันที

               3. เมื่อเข้าเซลล์ได้ รหัสพันธุกรรมของเอชไอวี (RNA) จะพุ่งสู่ใจกลางเซลล์ CD4 และก๊อบปี้ตัวเองขึ้นมา โดยขโมยโปรตีนของเซลล์ CD4 มาใช้ในการสร้างเนื้อตัวของลูกหลานตัวใหม่ เซลล์เอชไอวีรุ่นใหม่จะมีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าของเก่า

               4. เมื่อได้ทุกสิ่งอย่างครบตามองค์ประกอบเดิมเอชไอวี ตัวใหม่ก็จะผุดออกมาจากเซลล์ CD4 โดยดึงเนื้อหนังมังสามาจากผนังของ CD4 มาสร้างเปลือก

               5. กองทัพเอชไอวีถูกปล่อยออกมาจาก CD4 พร้อม ๆ กันหลายตัว การแบ่งตัวแบบทวีคูณนี้ทำให้เอชไอวีสามารถรวมกันเป็นขบวนการทำร้าย CD4 เซลล์อื่น ๆ ที่ยังแข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว

               หลังจากเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3-12 สัปดาห์ ร่างกายจะสังเคราะห์แอนติบอดี้ซึ่งเปรียบเหมือนตำรวจตรวจจับสิ่งแปลกปลอมออกมาเพื่อจะจับกุมเชื้อเอชไอวี แต่ก็สายไปแล้ว แอนติบอดี้ที่ร่างกายผลิตขึ้นมานี้ คือสารที่ตรวจเจอเวลาเราไปตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี

หลังจากโดนสูบเนื้อไปแล้ว CD4 จะเป็นอย่างไร


               CD4 ที่ถูกเอชไอวีใช้ในการแบ่งตัวจะไม่สามารถทำงานเป็นทหารได้อีกต่อไป CD4 เหล่านั้นจะหมดสภาพและถูกทำลายไป ทั้งทางตรงและทางอ้อม

               ทางตรง: CD4 ที่ติดเชื้อจะเอชไอวีถูกขโมยเนื้อเยื่อและสารประกอบไปผลิตเอชไอวีตัวใหม่ และเมื่อลูกหลานของเอชไอวีจำนวนมากผุดออกมาจากเซลล์ CD4 ตัวนั้นจะตายลง เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในถูกทำลายอย่างหนัก หรือถ้ายังไม่ตายในทันทีก็จะหมดอายุและตายในเวลาต่อมา

               ทางอ้อม: CD4 ที่ติดเชื้ออาจตั้งโปรแกรม ทำลายตัวเอง (Apoptosis) เมื่อระบบและกลไกการทำงานของเซลถูกรบกวนจากการผลิตลูกของเอชไอวี ผู้มีเชื้อส่วนใหญ่ จะมีเซลล์ Apoptosis ในกระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองจำนวนมากกว่าคนที่ไม่มีเชื้อ

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง                สถิติของกรมควบคุมโรคพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยปีน...