วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560

โภชนาการสำหรับผู้ป่วย HIV/AIDs

โภชนาการสำหรับผู้ป่วย HIV/AIDs




               อาหารที่รับประทานตามปกติอาจจะเพียงพอที่จะให้คุณค่าทางโภชนาการแก่ผู้ติดเชื้อ HIV อยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยโรคเอดส์มักจะมีอาการเบื่ออาหารและทานอาหารได้ยากเนื่องจากแผลในปากและคอ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาอาจส่งผลให้กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายโดยเฉพาะไขมันมีการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ผู้ป่วยควรจะต้องรับประทานให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายพร้อมต่อสู้กับภาวะความเจ็บป่วย และทดแทนน้ำหนักที่สูญเสียไป อาหารที่รับประทานควรจัดให้ครบหมู่และมีความสมดุล และเลือกรับประทานชนิดอาหารในแต่ละวันให้หลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มของอาหาร ได้แก่

               อาหารกลุ่มแป้ง: เช่น ข้าว ขนมปัง ธัญพืช เผือก เป็นต้น จะให้พลังงานแก่ร่างกาย รวมถึงเกลือแร่ วิตามินและกากใยอาหาร ผู้ป่วยควรทานอาหารกลุ่มนี้ในทุกมื้ออาหาร โดยทานวันละ 4-6 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับข้าวหนึ่งถ้วย หรือขนมปัง 1 แผ่นหรือธัญพืช เช่น ซีเรียล 1 ชาม)

               ผักและผลไม้: ให้วิตามิน เกลือแร่ และ กากใยอาหาร ควรรับประทานทุกวัน วันละ 5 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับผลไม้ 1 ผล หรือผักสดชามใหญ่ หรือผลไม้แห้ง 1 ถ้วย หรือน้ำผลไม้คั้นสด 1 แก้ว)

               เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว: ให้ทั้งโปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน ทานวันละ 2-3 ส่วนทุกวัน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับไข่ 2 ฟองเล็ก หรือเนื้อหมู ไก่ 100 กรัม หรือ เนื้อปลา 150 กรัม)

               ผลิตภัณฑ์จากนม: เช่น นมสด โยเกิร์ต เนยแข็ง ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ และแคลเซียม ควรทานวันละ 3 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับนม 1 แก้ว หรือโยเกิร์ต 1 ถ้วย หรือเนยแข็ง 1 แผ่น)

               ไขมัน: จากน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เนย เนยเทียม รวมถึงไขมันที่อยู่ในเนื้อสัตว์ ซึ่งจะให้พลังงาน กรดไขมันที่จำเป็น วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามิน A, D, E, K แคลเซียมและฟอสเฟต อย่างไรก็ดีหากทานอาหารพวกไขมันมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะโรคอ้วน และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ น้ำมันจากปลาซึ่งมีกรดไขมัน omega-3 สามารถช่วยลดระดับไขมันที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่น triglycerides และ LDL cholesterol และเพิ่ม HDL cholesterol ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายได้


               เนื่องจากผู้ป่วยอาจทานอาหารได้ยาก การเปลี่ยนรูปแบบการทานจากมื้อใหญ่ๆ มาเป็นมื้อเล็กๆ แต่ทานบ่อยๆ จะช่วยให้ทานได้ง่ายขึ้น กระเพาะอาหารดูดซึมสารอาหารได้และควรทานอาหารอ่อนๆ ที่ทานได้คล่องคอร่างกายของผู้ติดเชื้อ HIV ที่ยังไม่แสดงอาการ จะมีความต้องการพลังงานจากอาหารมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 10% เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่และจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 20-30% เมื่อเริ่มแสดงอาการหรือเป็นโรคเอดส์แล้ว ส่วนผู้ป่วยเด็กที่น้ำหนักตัวเริ่มลดจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50% เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเพียงพอที่จะยืนยันปริมาณโปรตีนและไขมันที่ต้องการเป็นตัวเลขชัดเจน เมื่อติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยอาจต้องทานอาหารกลุ่มโปรตีนมากขึ้น 50-100% ของปริมาณปกติ คือประมาณ 85 กรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 72 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง เพื่อช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อที่สูญเสียไป และควรมีอาหารกลุ่มที่ให้พลังงานเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำหนักตัว วิตามินและเกลือแร่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแต่ก็ควรจะได้มาจากการทานอาหารให้เพียงพอ เพราะการทานวิตามินเสริมปริมาณสูง เช่น วิตามินเอ สังกะสีหรือเหล็ก อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้


โภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่ทานยาต้านไวรัสเอดส์


               ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์มักจะพบผลข้างเคียง คือภาวะผิดปกติของไขมัน (lipodystrophy) โดยรูปร่างของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลง ไขมันในเลือดสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจหรือเบาหวานได้ เมื่อผู้ป่วยเริ่มได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ ควรจะลดอาหารกลุ่มไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ซึ่งจะมีมากในกลุ่มเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันปาล์มและมะพร้าว เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูง จะต้องปรับอาหารโดยเน้นการทานผักและผลไม้ ประมาณ 5 ส่วนต่อวัน ร่วมกับการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งจะช่วยเสริมการสร้างกล้ามเนื้อและผ่อนคลายความเครียดและทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น


อาหารเสริม


               ผู้ติดเชื้อ HIV จำนวนมาก หันมาทาน วิตามิน อาหารเสริม รวมถึงยาสมุนไพรมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ภูมิต้านทานในร่างกายดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะคงไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อเริ่มให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ผู้ป่วยอาจทานอาหารเสริมหลากหลายชนิด และเปลี่ยนแปลงชนิดบ่อยๆ ทำให้การติดตามผลเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามมีการศึกษาบางอย่างชี้ว่าอาหารเสริมบางชนิดมีผลต่อการรักษา เช่น สารสกัดจากกระเทียมซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจ มีผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้วยยา Saquinavir ลดลง และอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม Protease inhibitor ตัวอื่นๆ เช่นกัน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สมุนไพร St. John’s wort ซึ่งใช้มากในต่างประเทศ พบว่ามีผลลดระดับยาในเลือดของ Indinavir ซึ่งเป็นยากลุ่ม Protease inhibitor เช่นกัน และอาจส่งผลต่อยากลุ่ม NNRTIs ด้วย


               ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยบางกลุ่มสนใจใช้สมุนไพรหลายชนิดรักษาเสริมกับการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ แต่ทั้งนี้พึงระลึกเสมอว่าสมุนไพรก็มีสารซึ่งอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลงการรักษาของยาได้เช่นกัน ทางที่ดีหากจะใช้สมุนไพรร่วมในการรักษาก็ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลการรักษาทราบ เพื่อติดตามผลด้วย

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง                สถิติของกรมควบคุมโรคพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยปีน...