วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถาม-ตอบ เราจะติดเอดส์จากทางไหนบ้าง

ถาม-ตอบ เราจะติดเอดส์จากทางไหนบ้าง


1. เชื้อเอชไอวีพบได้ที่ไหนบ้าง?

ตอบ. สารคัดหลั่งหรือน้ำทุกชนิดที่ออกจากร่างกายมีเชื้อเอชไอวีมากน้อยต่างกัน
         ที่มีเชื้อปริมาณมาก : เลือด, น้ำจากช่องคลอด, ตกขาว, น้ำจากเลือดประจำเดือน, น้ำนมแม่
         ที่มีเชื้อปริมาณน้อย : น้ำตา, น้ำลาย, น้ำมูก, เสมหะ
         แทบจะไม่มีเชื้อ : อุจจาระ, ปัสสาวะ, เหงื่อ

2. ทำไมน้ำสารคัดหลั่งต่างๆจึงมีปริมาณไวรัสไม่เท่ากัน?

ตอบ. ไวรัสเอชไอวีชอบเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดเพื่อแบ่งตัวและเจริญเติบโต ดังนั้นน้ำสารคัดหลั่งใดที่มีเม็ดเลือดขาวหรือเลือดเข้าไปเกี่ยวข้องจึงมีไวรัสมาก เช่น เลือด, น้ำจากช่องคลอด, ตกขาว, ประจำเดือน, น้ำหนอง, ในทางตรงข้ามน้ำใดไม่มีเลือด หรือไม่มีเม็ดเลือดขาวปะปนก็จะมีปริมาณไวรัสเอชไอวีน้อย เช่น ปัสสาวะ, อุจจาระ และเหงื่อ เป็นต้น

3. เชื้อเอชไอวีอยู่นอกร่างกาย อยู่นานแค่ไหน?

ตอบ. เชื้อเอชไอวีร้ายก็จริงแต่ใจเสาะครับ ไม่สามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมภายนอกได้ โดยทั่วไปมันจะอยู่ได้เป็นชั่วโมงหรือแค่ไม่เกินวัน ทั้งนี้อยู่ที่สิ่งแวดล้อม ถ้าถูกความร้อน ความแห้ง กรดด่างหรือแสงแดดก็หงิกแล้ว แต่ถ้าได้ที่เหมาะสมๆ มีความชื้นดีๆ หรือห้องแอร์ที่เย็นจัด (ราวๆ 20 องศาเซลเซียส) ก็อยู่ได้ หลายวันแต่ไม่ถึงสัปดาห์

4. เชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายสัตว์อื่นได้หรือไม่?

ตอบ. มีคนกับลิงบางชนิดเท่านั้นที่เชื้อเอชไอวีจะมีชีวิตอยู่ได้ เชื้อเอชไอวีไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ในสัตว์อื่น เช่น สุนัข,แมว,วัว,ควายหรือแม้แต่ยุง เชื้อก็จะตายภายในเวลาไม่นานนัก ดังนั้นยุงที่มาดูดเลือดคนมีเชื้อเอดส์ เชื้อก็จะตาย เชื้อในตัวยุงไม่สามารถติดต่อไปยังคนอื่นที่ถูกยุงกัดได้

5. เชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ติดต่อได้กี่ทาง?

ตอบ. โดยหลัก ๆ ก็มี 3 ทาง
1. เลือดและการถ่ายเลือด รวมทั้งใช้เข็มร่วมกัน เครื่องมือที่ไม่สะอาดมีคราบเลือดปนเปื้อนหรือมีบาดแผลแล้วไปสัมผัสกับเลือด หรือน้ำเหลืองของคนมีเชื้อเอชไอวี
2. ทางการร่วมเพศ รวมทั้งการร่วมเพศระหว่างชายหญิง,ชายกับชาย,โดยร่วมเพศทางช่องคลอดหรือทาง ทวารหนัก ทั้งนี้รวมทั้ง Oral sex โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปากกับอวัยวะเพศชายที่มีเชื้อเอชไอวี
3. จากมารดาสู่ทารก (Vertical Transmission) ส่วนใหญ่จะติดระหว่างการคลอด และส่วนน้อยที่ติดระหว่างอยู่ในครรภ์และระหว่างให้ลูกดูดนมแม่


6. แบบไหนเสี่ยงมากที่สุด?

ตอบ. 1. รับเลือดครับ โดยเฉพาะรับการถ่ายเลือดทั้งขวดติดเกือบ100% แต่ปัจจุบันนี้เลือดทุกขวดได้รับการตรวจอย่างดีแล้วดังนั้นจึงไม่ต้องกังวล
2. ส่วนการร่วมเพศ โอกาสติดต่อน้อยกว่าเลือดขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น การร่วมเพศทางทวารหนักจะมีโอกาสติดสูงกว่าทางช่องคลอดและทางปากตามลำดับ และผู้ที่เป็นฝ่ายรับก็จะมีโอกาศติดเชื้อมากกว่าผู้สอดใส่
3. ส่วนการติดจากแม่ไปสู่ลูก ถ้าแม่ไม่ไดรับยาต้านเอดส์ระหว่างตั้งครรภ์ลูกมีโอกาสติด 22% แต่ถ้ารับยาระหว่างฝากครรภ์โอกาสเหลือ 6% และถ้าไม่ได้กินนมแม่ด้วย โอกาสก็ลดลงอีก


7. สาเหตุการแพร่เชื้อมากที่สุด?

ตอบ. แม้การให้เลือดมีโอกาสติดต่อสูงมากแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุการแพร่เชื้อมากที่สุด เพราะการให้เลือดไม่บ่อยและปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีในเลือดทุกถุง แต่การมีเพศสัมพันธ์นั้นเมื่อเทียบกับการบริจาคเลือดมีแนวโน้มที่จะมีการกระทำที่บ่อยที่สุด จึงเป็นสาเหตุการแพร่เชื้อมากที่สุด

8. นอกเหนือ 3 ทางหลักที่ติดต่อแล้วมีทางอื่นอีกไหม?

ตอบ. มีครับ แต่ก็น้อยเช่น การปลูกถ่ายอวัยวะ เปลี่ยนไต, ปลูกถ่ายไขกระดูก, ผสมเทียม ที่ใช้อสุจิผู้อื่นที่ไม่ใช่สามี โดยไม่ตรวจเลือดเจ้าของอสุจิก่อน, ฝังเข็ม, เจาะหู, สักยันต์, การใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น มีดโกน

9. ติดหรือไม่มีติด มีปัจจัยอะไรบ้าง?

ตอบ. เชื้อเอชไอวีไม่ได้ติดกันง่ายๆ อย่างที่เข้าใจกัน ขนาดไปยุ่งกับคนมีเชื้อเอชไอวีก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องติดเสมอไป มันมีปัจจัยมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV Viral Load) ถ้าสิ่งสัมผัสนั้นมีปริมาณไวรัสมาก โอกาสติดเชื้อก็มาก ถ้ามีไวรัสน้อยโอกาสติดเชื้อก็น้อย
ปริมาณไวรัสเอชไอวีเรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ เลือด, น้ำอสุจิ, น้ำจากช่องคลอด, บาดแผล ผิวหน้ามีหน้าที่ปกป้องร่างกายไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย แต่ถ้าผิวหนังมีรอยแตกเป็นแผลก็มีโอกาสที่ส่วนเยื่อบุต่างๆเป็นเยื่อบางๆ เช่น เยื่อบุในปาก ตา ช่องคลอด มีโอกาสเป็นรอยแผลเล็กๆได้จึงต้องระมัดระวังอย่าให้เข้าปากเข้าตา (เห็นหนังฝรั่งที่เขาใส่แว่นตาดำไหมครับ, หมอใช้ผ้าปิดปาก) แผลจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น แผลเริม แผลริมอ่อน แผลซิฟิลิส ก็เป็นแหล่งรอรับเชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน ความบ่อยในการสัมผัส ร่วมเพศกับคนที่มีเอชไอวีครั้งเดียวอาจจะไม่ติดก็ได้ หรือถูกเข็มตำครั้งเดียวก็อาจจะไม่ติดก็ได้เช่นกัน ซึ่งขึ้นกับปัจจัยอื่นประกอบด้วย

10. พ่อเป็นเอดส์แต่แม่ไม่เป็น ลูกเป็นไหม?

ตอบ. ไม่เป็นครับ ลูกที่ติดเอชไอวีจะต้องติดจากแม่เท่านั้น เชื้ออสุจิจากพ่อไม่มีเชื้อเอชไอวี (ยกเว้นน้ำอสุจิ)

11. นมแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีติดลูกไหม?

ตอบ. ติดครับ เดี๋ยวนี้เขาห้ามแม่ที่มีเชื้อเอดส์ให้ลูกดูดนม แต่ให้ใช้นมผงแทน

12. อยู่บ้านเดียวกัน จะติดเชื้อเอชไอวีไหม?

ตอบ. ถ้าไม่มีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ติด ถ้าเพียงแค่อยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวด้วยกัน จับมือถูกเนื้อต้องตัวตามปกติ นอนเตียงเดียวกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ซักเสื้อผ้าร่วมกัน แค่นี้ไม่ติดครับ

13. คู่นอนมีเชื้อเอชไอวีมีโอกาสติดเรามากแค่ไหน?

ตอบ. โอกาสรับเชื้อมีมาก คำว่ามีมากก็ไม่ได้แปลว่าต้องติดเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่การใช้ถุงยางอนามัยป้องกันก็ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อได้ นอกจากนั้นถ้าหากว่าคู่นอนที่รับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอจนมีปริมาณเชื้อไวรัสต่ำโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อติดต่อไปยังคนอื่นก็น้อยลงเช่นกันครับนอกจากนั้นการคนที่จะติดเชื้อต้องมีการกระทำที่"บ่อยครั้ง" หรือ"ซ้ำซาก" และขึ้นอยู่กับระยะเวลาด้วย และยังขึ้นอยู่กับช่องทางการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการร่วมเพศครั้งเดียวกับคนมีเชื้ออาจติดเอชไอวีก็ได้ ไม่ติดก็ได้ แบบซื้อลอตเตอรี่นั่นแหละครับ อาจถูกก็ได้ ไม่ถูกก็ได้ (แต่ติดเอดส์มีโอกาสมากกว่าถูกล็อตเตอรี่นะครับ) อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ใช่ภรรยาหรือสามีละก้อใส่ถุงยางอนามัยดีที่สุด เพราะพลาดแล้วไม่มีโอกาสแก้ตัวอย่าเสี่ยงดีกว่า


14. จูบคุณคิดว่าไม่สำคัญ?

ตอบ. ก็ไม่สำคัญจริงๆแหละ ในน้ำลายมีปริมาณเชื้อน้อย จูบธรรมดาไม่ติดหรอกครับ มีคนคำนวณว่าปริมาณน้ำลายที่มีเชื้อพอที่จะติดต่อกัน ต้องมีอย่างน้อย 1 ขวดลิตร


15. ลงอ่างติดเอชไอวีไหม?

ตอบ. ปกติเชื้อไวรัสเอชไอวีมักใจเสาะ โดนน้ำอุ่นในอ่าง โดนสบู่จำนวนไวรัสก็ตายไปแยะแล้ว ยิ่งเจอน้ำประปาในเมืองไทยกลิ่นคลอรีนคลุ้งไปหมดเชื้อเอชไอวีก็อยู่ไม่ได้แล้ว ดังนั้นถ้าไปอาบน้ำเฉยๆ ก็สบายใจได้เลยครับ

16. ใช้ห้องน้ำร่วมกับคนมีเชื้อเอชไอวี..ติดไหม?

ตอบ. อุจจาระและน้ำปัสสาวะมีปริมาณไวรัสที่น้อยมากจนไม่สามารถติดต่อกันได้ ดีไม่ดีโดนน้ำยาฆ่าเชื้อก็หงิกไปเลย ส่วนน้ำอสุจิหรือน้ำจากช่องคลอดก็ไม่สามารถอยู่ในห้องน้ำได้นาน แม้จะสัมผัสถูกผิวหนังบางส่วนนอกร่างกายก็ไม่สามารถผ่านสู่ร่างกายได้ อย่างไรก็ตามการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำทำความสะอาดเป็นครั้งคราวก็ช่วยได้เยอะ เพราะน้ำยาเหล่านี้เป็นตัวฆ่าเชื้อเอชไอวีโดยตรงทีเดียว


17. กินอาหารกับคนมีเชื้อเอดส์ ติดไหม?

ตอบ. ไม่ติดครับ น้ำลายมีปริมาณเชื้อน้อยมากจนไม่สามารถติดต่อกันได้ และถ้าเป็นอาหารร้อนๆยิ่งทำให้เชื้อเอชไอวีตายเร็วขึ้น แม้เชื้อเอชไอวีจะลงสู่กระเพาะก็จะโดนกรดในกระเพาะทำลายไป ยังไม่เคยมีรายงานว่ามีคนติดเชื้อเอชไอวีโดยวิธีนี้ ถ้ากลัวมากใช้ช้อนกลางครับ


18. คนทำอาหารมีเลือดออก จะติดไหม?

ตอบ. เลือดที่หยดลงอาหาร ถ้าอาหารนั้นได้ผ่านการอุ่นหรือหรือทำให้ร้อน 50 องศาเซลเซียส นานกว่า 15 นาที เชื้อเอชไอวีก็ตายหมดแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้อุ่นก็มีสิทธิ์ได้ (แต่ไม่มาก) ถ้าปากเรา ฟันเรา เหงือกเรา ไม่มีแผล ไม่ผุไม่อักเสบ ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าไหร่


19. ในสระว่ายน้ำด้วยกัน จะติดไหม?

ตอบ. แม้จะมีเลือด น้ำเหลือง หรือน้ำอสุจิ หรือน้ำจากช่องคลอด น้ำปัสสาวะลงไปในสระ มันก็จะถูกเจือจาง ไปจนปริมาณไม่เข้มข้นพอที่จะติดต่อได้ และคลอรีนในสระก็เป็นตัวฆ่าเชื้อโรค ที่ดีอีกด้วย ไม่มีอะไรต้องห่วงครับ

20. ยุงกัด ติดไหม?

ตอบ. ยุงไม่ใช่พาหะนำเชื้อเอชไอวีได้ เหมือนยุงลายนำเชื้อไข้เลือดออก หรือยุงก้นปล่องนำเชื้อมาลาเรีย เชื้อเอชไอวีเองก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงได้นานเมื่อยุงดูดเลือดคนที่มีเชื้อเอชไอวีไปแล้วไม่นานเชื้อจะตายอยู่ในกระเพาะยุง เมื่อยุงไปกัดคนอื่นก็ไม่ติดต่อ อีกอย่างเชื้อเอชไอวีไม่สามารถแบ่งตัวหรือเจริญเติบโตในกระเพาะยุงได้ จึงไม่สามารถเล็ดลอดไปสู่น้ำลายยุง จึงไม่ติดต่อ แล้วปากยุงที่เพิ่งกัดคนมีเลือดเอชไอวีบวกล่ะ ข้อนั้นไม่ต้องห่วงเพราะปากยุงมักไม่มีเลือดติดอยู่หรือ แม้จะมีก็น้อยมาก ไม่เหมือนเข็มฉีดยา ที่อาจมีเลือดติดซ่อนอยู่ได้ ดังนั้นถึงแม้จะกัดคนหลายคนก็ไม่ติดครับ เคยมีการศึกษาให้ยุงไปกัดคนที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากนั้น 4 ชั่วโมง

21. คนบ้าเที่ยวเอาเข็มมาไล่ทิ่มชาวบ้าน จะติดไหม?

ตอบ. ถ้าคนบ้านั้นมีเชื้อเอชไอวีใช้เข็มทิ่มแทงตัวเองมีเลือดสดๆติดอยู่ก็มีสิทธิ์ติด แต่ถ้าเข็มที่โดนเลือดมานานเป็นชั่วโมงปริมาณเชื้อก็จะตายไปแยะ โอกาสติดก็น้อยลงครับ

22. ใช้เสื้อผ้าร่วมกับคนมีเชื้อเอดส์ติดไหม?

ตอบ. ไม่ติดแน่นอน ไม่ว่าเสื้อผ้านั้นจะซักหรือไม่ซักก็ตาม เพราะเหงื่อ (หรืออาจมีน้ำลายด้วย) ไม่มีปริมาณมากพอที่จะก่อโรคได้ (แม้เรามีแผลก็ตาม) ยิ่งถ้าได้ซักก่อนโดนผงซักฟอก โดนเครื่องซักผ้าหมุนติ้วอย่างนั้นก็เวียนหัวตายไปแล้วครับ

วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การตรวจเลือดเอดส์ เพื่อหาเชื้อ HIV ตรวจกันอย่างไร? แบบใดบ้าง?

รับเชื้อมาแล้ว เชื้อไปไหนบ้าง



               เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย มันก็ถูกเม็ดเลือดขาวจับกิน ถ้าเป็นเชื้ออื่นก็โดนเขมือบเรียบร้อย แต่นี่เพราะมันคือเอดส์ วายร้ายไวรัสเอดส์ก็จัดการก็อปปี้ตัวเอง จนเป็นไวรัสตัวใหม่แล้วก็ก็อปปี้ๆๆๆ จนเม็ดเลือดขาวแตกตาย มันก็ออกมาเวียนว่ายอยู่ในกระแสเลือด (แล้วก็ไปโจมตีเม็ดเลือดขาวตัวอื่นต่อไป) ถึงตอนนี้ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทาน (Antibody) ขึ้นมาช่วงระยะเวลาจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จนเชื้อไวรัสออกสู่กระแสเลือด ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 6 สัปดาห์ ช่วงนี้ถ้าจะตรวจหาว่ามีเชื้อเอดส์หรือไม่ ก็สามารถตรวจได้ โดยตรวจ “แอนติเจน”กว่าร่างกายจะสร้างแอนติบอดี ก็ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ดังนั้น ถ้าจะตรวจแอนติบอดีได้ อย่างเร็วที่สุดก็ 3 สัปดาห์ (ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะมีแอนติบอดีขึ้นเร็วอย่างนี้เสมอไป)

ตรวจเลือดเอดส์ เขาตรวจอะไร ?

               การตรวจว่ารับเชื้อเอดส์มาหรือไม่ มีวิธีตรวจได้ สองอย่าง คือตรวจแอนติเจนกับตรวจแอนติบอดี แต่การตรวจแอนติเจนนั้นยุ่งยาก ใช้เครื่องมือซับซ้อน ราคาแพง ใช้เวลานาน จึงไม่นิยมตรวจ เป็นตัวเลือกแรก เหมือนการตรวจแอนติบอดี ซึ่งตรวจได้ง่าย ราคาถูก ได้ผลเร็ว เชื่อถือได้ค่อนข้างแน่นอน

ตรวจเลือดเอดส์มีกี่แบบ


1. การตรวจหาแอนติบอดีต่อ HIV (Anti-HIV antibody)


               1.1 ELISA : เป็นการ “ตรวจคัดกรอง” (screening test) ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ทำได้ง่าย ไม่แพง มีความไวมาก ความแม่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าตรวจแล้วให้ผลบวกสองครั้ง จากน้ำยาของต่างบริษัท ก็ค่อนข้างมั่นใจได้ แต่การจะบอกว่าใครเลือดบวกเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจะต้องตรวจยืนยันด้วยวิธีอื่นที่จำเพาะกว่าอีกครั้งก่อน ผลบวกปลอม มีไหม ? มีครับ แต่ก็น้อยยยยยยย แล้วปลอมมาจากไหน ก็จากแอนติบอดีต่อกล้ามเนื้อเรียบ ต่อไมโตคอนเดรียในเซลล์ของร่างกาย ต่อไวรัสชนิดอื่นที่คล้ายกัน ฯลฯ

               ผลลบปลอมมีไหม ? (ติดเชื้อ แต่ผลตรวจเป็นลบ) ก็มีครับ แต่ก็น้อยยยยย โดยเฉพาะพวกใจร้อน เพิ่งรับเชื้อมา ก็รีบตรวจ แอนติบอดียังไม่ขึ้น จึงยังให้ผลเป็นลบ เรียกระยะนี้ว่า Window period

               1.2 Western blot assay : เป็นการ “ตรวจยืนยัน” (Confirmatory test) การติดเชื้อ HIV ที่นิยมมากที่สุด เพราะมีความไว และความแม่นยำสูงกว่าวิธี ELISA แต่ราคาแพงกว่า ใช้เวลามากกว่า ทำยากกว่า ถ้าอย่างนั้น Western blot assay ก็เชื่อถือได้ ถ้าให้ผลเป็นบวกมันก็ต้องบวกแน่ๆซิ …เปล่าครับ ผลบวกปลอมก็มี แต่ก็น้อยยยยยยยยยยยนิด (จริงๆ)

               1.3 Indirect immunofluorescent assay (IFA) : เป็นการตรวจหาแอนติบอดี เหมือน Western blot เพียงแต่การอ่านผล อ่านจากดูการเรืองแสง แทนการนับสารรังสีใน Western blot มีความไวและความแม่นพอๆกัน

               1.4 Radioimmunoprecipitation assay (RIPA) : เป็นการหาแอนติบอดีอีกวิธี ที่ให้ผลไวกว่า Western blot แต่ทำยากมักใช้ในงานวิจัยเท่านั้น

2. การตรวจหาแอนติเจน


               ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจหา p24 antigen ในเลือดด้วยวิธี ELISA สามารถตรวจหาตัวเชื้อ ในช่วงที่แอนติบอดียังไม่ขึ้น หรือที่เรียก window period แต่ก็มีข้อเสียคือความไวยังน้อย (คือตรวจไม่ค่อยเจอ) และไม่เหมาะที่จะใช้เป็นวิธีคัดกรอง (screening test)

3. การเพาะเชื้อไวรัส HIV


               ทำยาก ราคาแพง ความไวน้อย แต่ถ้าให้ผลบวก ก็ถือว่าชัวร์ที่สุด

4. การตรวจหา DNA ของไวรัส


               วิธีนี้คือการหาโดยอาศัยการเพิ่มปริมาณ DNA เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) ตรวจได้แม้จะมีปริมาณ DNA เพียงน้อยนิด (มีความไวสูง) ความชัวร์เชื่อถือได้แน่นอน ถือเป็นวิธีการ “ตรวจยืนยัน” ที่แน่นอนที่สุด

5. Nucleic Acid Amplification Testing (NAT)


               การตรวจหาเชื้อเอชไอวีแบบใหม่ล่าสุดในปัจจุบัน คือ เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ หรือมีความกังวลหลังจากมีความเสี่ยงมา โดยที่นวัตกรรมนี้มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และแม่นยำมาก ท่านไม่จำเป็นต้องรอระยะเวลาถึงหนึ่งเดือนอย่างที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะตรวจพบโดยแนท ที่ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังไปเสี่ยงมา เพราะ “แนท” คือ วิธีการตรวจเลือดที่มีความไวกว่าวิธีการเดิม คือ แอนติ-เอชไอวี ที่ต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้นเคยต่อต้านเชื้อแล้วจึงตรวจพบ ซึ่งวิธีการ “แนท” นี้ ทำงานด้วยการตรวจเพื่อหาตัวเชื้อเอชไอวีโดยตรง ฉะนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องรออีกต่อไปหลังได้รับความเสี่ยงมา

               วิธีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่ผ่านมานั้น คือ วิธีการตรวจแบบการหาแอนติบอดี คือ การตรวจหาการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อของร่างกาย ดังนั้น ปัญหาของวิธีนี้คือ ร่างกายต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการตรวจหาเชื้อไวรัส แล้วจึงสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อ และช่วงเวลาตั้งแต่ที่เราได้รับเชื้อมา จนถึงช่วงที่ร่างกายสร้างภูมินี้เองที่เราเรียกกันว่า ระยะฟักตัว หรือ (Window Period)ด้วยเหตุนี้ “แนท” จึงเป็นการช่วยร่นระยะเวลาฟักตัว และจะทำให้เรารู้เร็ว ไม่ต้องรอ หมดกังวล และเมื่อรู้แต่เนิ่นๆ เราก็ดูแลตัวเองได้เร็ว และยังยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที เพราะประโยชน์ของ “แนท” คือ แม่นยำ และรวดเร็วกว่าการตรวจแบบทั่วไปที่ตรวจหาแอนติบอดีที่ต้องใช้เวลารอหลังเสี่ยง 2 – 12 สัปดาห์

วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รู้ทันเอดส์ (AIDS) ญาติหรือผู้ใกล้ชิดควรปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอดส์อย่างไร

ญาติหรือผู้ใกล้ชิดควรปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอดส์อย่างไร



                 ผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อเอดส์ มีโอกาสติดเชื้อน้อยมาก เพราะโรคเอดส์ไม่ติดต่อกันง่ายๆ แต่ถ้าบอกว่าไม่จำเป็นต้องป้องกันอะไรเลย ก็อาจจะไม่สบายใจ และยังคงมีความกลัว หรือหวาดระแวงอยู่ดี ดังนั้นการให้คะแนะนำ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง จะเพิ่มความมั่นใจในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติ ให้ได้ตามนั้นทั้งหมด เพราะการรักษาสุขอนามัยตามธรรมดา ก็ป้องกันเอดส์ได้อยู่แล้ว ข้อควรปฏิบัติที่ควรคำนึง ได้แก่

การล้างมือ


                    การล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ เป็นการป้องกันการติดต่อของโรคที่ดี และง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นต้องล้างทุกครั้ง ที่สัมผัสแตะเนื้อต้องตัวธรรมดา ถ้าไม่มีแผลเปิด และไม่สัมผัสกับน้ำหลั่งของผู้ติดเชื้อควรล้างมือทุกครั้ง ที่สัมผัสกับน้ำหลั่งของผู้ติดเชื้อ หรือเมื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ ในการเข้าห้องน้ำ หรือภายหลังจากทำความสะอาด บริเวณที่เปื้อนสิ่งสกปรก ควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ แต่ไม่ควรสั้นเกินไป หรือตัดซอกเล็บจนลึกเกินไป


การใช้ถุงมือ


                    ควรใช้ถุงมือยางทุกครั้ง ที่สัมผัสกับน้ำหลั่ง หรือบาดแผลของผู้ติดเชื้อโดยตรง หรือเมื่อมีแผลเปิดบริเวณมือ หรือเมื่อสัมผัสกับเสื้อผ้า เครื่องใช้ที่เปื้อนน้ำหลั่งของผู้ติดเชื้อ หรือเมื่อทำความสะอาด บริเวณที่อาจเปรอะเปื้อนน้ำหลั่งของผู้ป่วยควรสวมถุงมือทุกครั้ง เมื่อไม่แน่ใจว่ามีบาดแผลที่มือหรือไม่ ในกรณีไม่มีถุงมือยาง ใช้ถุงพลาสติกแทนก็ได้หลังจากถอดถุงมือแล้ว ควรล้างมือด้วยสบู่ และน้ำอีกครั้งอีกด้วยไม่จำเป็นต้องสวมถุงมือ เมื่อทำความสะอาดบ้านตามปกติ เมื่อสัมผัสผิวหนังที่ไม่เปื้อนเลือด หรือน้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ หรือการทำงานบ้านอย่างอื่นถุงมือยางที่ใช้แล้ว ควรล้างทำความสะอาดและผึ่งให้แห้ง สามารถนำมาใช้ได้อีกจนกว่าจะขาด

เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอนของผู้ติดเชื้อ


                    ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องใช้เสื้อพิเศษแต่อย่างใด เสื้อผ้าธรรมดาที่ใช้อยู่ ประจำวัน สามารถนำมาซักร่วมกับเสื้อผ้าของผู้อื่น ไม่จำเป็นต้องแยกซักต่างหากสำหรับเสื้อผ้า หรือผ้าปูที่นอน ที่เปรอะเปื้อนน้ำหลั่งต่างๆ ของผู้ติดเชื้อ ควรแยกซักต่างหาก ควรสวมถุงมือเวลาจะจับต้อง ควรนำมาแช่ในน้ำ ผสมน้ำยาซักผ้าขาวเสียก่อน ประมาณ 30 นาที แล้วนำไปซักตามปกติ

การทำความสะอาดพื้นห้องน้ำ ที่เปรอะเปื้อนน้ำหลั่งต่างๆ


                    ควรสวมถุงมือ แล้วใช้ผ้าหรือกระดาษชำระ เช็ดบริเวณที่เปรอะเปื้อนนั้น แล้วทิ้งในถุงพลาสติก เพื่อนำไปทำลาย จากนั้นเช็ดถูบริเวณนั้น ด้วยน้ำยาเช็ดพื้น และอาจถูซ้ำอีกครั้งด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง

ห้องน้ำและห้องส้วม


                    ทุกคนในบ้านสามารถใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ แต่ควรมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ในการทำความสะอาดควรสวมถุงมือด้วย โดยการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำ (หรืออาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแทนก็ได้) เช็ดพื้นห้องน้ำด้วยไม้ถูพื้น จากนั้นทิ้งไว้ให้แห้ง ก่อนจะนำไปเช็ดถูส่วนอื่นของบ้าน เครื่องใช้ในห้องน้ำที่ควรแยกไว้ สำหรับทุกคนเป็นการเฉพาะ ได้แก่ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แปรงสีฟัน และที่โกนหนวด เป็นต้น

จานชามและเครื่องใช้ในครัว


                    ไม่จำเป็นต้องแยกเครื่องครัว หรือเครื่องใช้ในการรับประทานอาหาร เฉพาะสำหรับผู้ติดเชื้อ สามารถใช้รวมกันได้ แต่ควรล้างให้สะอาด และผึ่งให้แห้งทุกครั้ง ก่อนนำมาใช้เสมอการรับประทานอาหารจากสำรับเดียวกัน ควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี และเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินอาหาร

การสังคมกับผู้ติดเชื้อ


                    ไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการคบหาสมาคมกับผู้ติดเชื้อ ไม่ควรแสดงอาการรังเกียจผู้ติดเชื้อ การจับมือ แตะเนื้อต้องตัวตามปกติ ไม่ทำให้ติดเอดส์

วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รู้ทันเอดส์ (AIDS) ผู้ติดเชื้อเอดส์ควรปฎิบัติตนอย่างไร

ผู้ติดเชื้อเอดส์ควรปฎิบัติตนอย่างไร


          ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์แต่ยังไม่มีอาการ อาจมีชีวิตยืนยาวไปได้อีกหลายปี ดังนั้น จึงควรที่จะดูแลสุขภาพของตนเอง ให้แข็งแรงอยู่เสมอ และในขณะเดียวกัน ก็ต้องป้องกันมิให้ผู้อื่น หรือคนใกล้ชิดติดเชื้อเอดส์ หากรู้จักระมัดระวัง ในเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้แล้ว ก็จะไม่เป็นที่รังเกียจของคนที่อยู่ด้วย และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข และปลอดภัย

ข้อควรปฏิบัติในชีวิตประจำวันมีดังนี้

1. คบหาสมาคมกับผู้อื่นได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อน หรือเก็บตัวอยู่คนเดียว การพูดคุยแตะเนื้อต้องตัวกันตามธรรมดา ไม่สามารถทำให้ผู้อื่นติดโรคจากท่านได้ และโรคนี้ไม่ติดต่อทางลมหายใจ ถ้าหากมีความวิตกกังวล ทุกข์ใจ ไม่จำเป็นต้องเก็บความทุกข์ไว้เพียงคนเดียว ควรปรึกษาคนที่เข้าใจ และพร้อมจะรับฟังให้ความช่วยเหลือ อาจเป็นพ่อแม่ พี่น้องที่สนิท คู่สมรส คู่รัก หากยังไม่มีคนที่พร้อมจะรับฟังปัญหาของเรา ขอให้พยายามติดต่อพบปะพูดคุย กับกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ที่อยู่ใกล้บ้าน โดยสอบถามได้จากหน่วยงานสาธารณะสุข ซึ่งจะมีข้อมูล เรื่องกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ในพื้นที่

2. ควรระมัดระวังมิให้น้ำคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำเหลือง น้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ และสิ่งขับถ่ายต่างๆ กระเด็นหรือเปรอะเปิ้อนผู้อื่น เพราะอาจมีเชื้อเอดส์ปะปนออกมาได้ การบ้วนน้ำลาย หรือเสมหะ ควรใช้ภาชนะรองรับ ที่สามารถนำไปทิ้ง หรือทำความสะอาดได้สะดวก

3. เมื่อสัมผัส หรือเปรอะเปื้อน เลือด น้ำเหลือง อาเจียน ปัสสาวะ หรือสิ่งขับถ่ายอื่นๆ ให้รีบทำความสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เสื้อผ้าที่ใช้แล้วควรนำไปซักให้สะอาด ก่อนนำไปใช้ต่อไป

4. ใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ แต่ควรระมัดระวังอย่าให้สิ่งขับถ่าย เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ อาเจียน เปรอะเปื้อนพื้น โถส้วม อ่างล้างมือ ควรล้างด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างห้องน้ำ (ที่มีส่วนผสมของคลอรีนอยู่ด้วย) เป็นประจำทุกวัน และล้างมือทุกครั้ง หลังจากที่ใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม

5. ถ้วย ชาม จาน แก้วน้ำ ควรล้างให้สะอาด แล้วทิ้งให้แห้ง ก่อนนำไปใช้

6. ไม่ใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ

7. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

8. งดการบริจาคโลหิต หรืออวัยวะต่างๆ เช่น ดวงตา ไต น้ำอสุจิ

9. หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ เพราะเด็กมีโอกาสรับเชื้อจากแม่ ที่ติดเชื้อเอดส์ได้ประมาณ 30 %

10. ไม่ควรเข้าใกล้ผู้ป่วยโรคอื่นๆ เพราะภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ของผู้ติดเชื้อต่ำกว่าคนอื่น จะทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย

11. ไม่ควรดูแลสัตว์เลี้ยง หรือทำความสะอาดกรงสัตว์ เพราะอาจติดเชื้อโรคจากสัตว์เหล่านี้ได้

12. ผู้ติดสารเสพติดควรเลิกเสีย ถ้าเลิกไม่ได้ หรืออยู่ในระหว่างการรักษา เพื่อเลิกสารเสพติด ควรเปลี่ยนจากวิธีฉีด เป็นการสูบ หรือกินแทน หากจำเป็นต้องใช้เข็มฉีดยา ไม่ควรใช้เข็ม หรือกระบอกฉีดยา ร่วมกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด

13. ควรพบแพทย์โดยใกล้ชิดเป็นระยะๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รู้ทันเอดส์ (AIDS) เมื่อติดเชื้อเอดส์แล้วควรทำตัวอย่างไร

เมื่อติดเชื้อเอดส์แล้วควรทำตัวอย่างไร

         



               ผู้ติดเชื้อเอดส์ไม่ควรวิตกกังวลเกินไป ผู้ที่ยังไม่มีอาการ สามารถดำเนินชีวิตตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาล สำหรับผู้ที่มีอาการแล้ว ถ้าดูแลสุขภาพให้ดี ไม่มีโรคแทรกซ้อนก็จะมีชีวิตยืนยาว ไปได้อีกหลายปี และในอนาคตอาจจะมีการค้นพบยา ที่สามารถรักษาโรคเอดส์ได้

ข้อควรปฎิบบัติสำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์

               1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และให้สารอาหารครบถ้วน
               2. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
               3. หากมีเพศสัมพันธ์ ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการรับ หรือแพร่เชื้อเอดส์
               4. งดสิ่งเสพติดทุกชนิด
               5. งดบริจาคเลือด หรืออวัยวะ
               6. ไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะอาจจะถ่ายทอดเชื้อให้ลูกได้ 30 %
               7. ทำจิตใจให้สงบ เช่น การฝึกสมาธิ
               8. อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
                       
ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รู้ทันเอดส์ (AIDS) ใครบ้างที่ควรตรวจหาเชื้อเอดส์

ใครบ้างที่ควรตรวจหาเชื้อเอดส์


1. ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และต้องการรู้ว่าตนเองติดเชื้อเอดส์หรือไม่
2. ผู้ที่ตัดสินใจจะมีคู่ หรืออยู่กินฉันท์สามีภรรยา
3. ผู้ที่สงสัยว่าคู่นอนของตน จะมีพฤติกรรมเสี่ยง
4. ผู้ที่คิดจะตั้งครรภ์ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยทั้งของแม่ และลูก
5. ผู้ที่ต้องการข้อมูลสนับสนุน เรื่องความปลอดภัย และสุขภาพของร่างกาย เช่น ผู้ที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ (บางประเทศ)

ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อเอดส์ ควรตรวจเลือดเมื่อใด

                    ดังนั้นถ้าสงสัยว่าติดเชื้อเอดส์ ไม่ควรตรวจเลือดทันที เพราะเลือดอาจจะไม่ให้ผลเป็นบวก ควรตรวจภายหลังจากที่สัมผัสเชื้อแล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป จะให้ผลที่แน่นอนกว่า


การตรวจเลือดมีขั้นตอนอย่างไร

1. การตรวจขั้นต้น [Screening test] เป็นการตรวจหาภูมิต้านทานโรค ต่อเชื้อนั้น [Antiboby] ซึ่งราคาถูกมาก สะดวก รวดเร็ว มีความไวสูง และให้ผลที่น่าเชื่อถือได้มากกว่า 99.5 % ถ้าหากเลือดให้ผลบวก จะต้องได้รับการตรวจยืนยันอีกครั้งหนึ่ง
2. การตรวจยืนยัน [Confirmatory test] เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ของการวินิจฉัยโรค จากการตรวจขั้นต้นว่า มีการติดเชื้อเอดส์จริงหรือไม่


คลินิกให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพ

(คลินิกนิรนาม) คืออะไร

คือ คลินิกให้บริการปรึกษาทางการแพทย์ และสังคมเกี่ยวกับโรคเอดส์ และกามโรค รวมทั้งตรวจเลือด หาการติดเชื้อเอดส์โดยไม่ต้องแจ้งชื่อ และที่อยู่

คลินิกให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพ

(คลินิกนิรนาม) บริการอะไร

# ให้บริการปรึกษาเรื่องโรคเอดส์ และปัญหาสุขภาพทั่วไป
# ให้บริการปรึกษาก่อนการตรวจเลือด และหลังทราบผลเลือด
# ตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอดส์ และกามโรค
# ช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์

คลินิกให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพ

(คลินิกนิรนาม) สำหรับใคร

# ผู้ที่สนใจและต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอดส์ และกามโรค
# ผู้ที่กังวลว่าตัวเองติดเชื้อเอดส์หรือไม่
# ผู้ที่กำลังจะแต่งงานหรือมีครอบครัว
# ผู้ที่วางแผนจะมีบุตร
# ผู้ที่จะไปทำงานต่างประเทศ
# ผู้ติดเชื้อ / ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัว

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง                สถิติของกรมควบคุมโรคพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยปีน...