วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถาม-ตอบ เราจะติดเอดส์จากทางไหนบ้าง

ถาม-ตอบ เราจะติดเอดส์จากทางไหนบ้าง


1. เชื้อเอชไอวีพบได้ที่ไหนบ้าง?

ตอบ. สารคัดหลั่งหรือน้ำทุกชนิดที่ออกจากร่างกายมีเชื้อเอชไอวีมากน้อยต่างกัน
         ที่มีเชื้อปริมาณมาก : เลือด, น้ำจากช่องคลอด, ตกขาว, น้ำจากเลือดประจำเดือน, น้ำนมแม่
         ที่มีเชื้อปริมาณน้อย : น้ำตา, น้ำลาย, น้ำมูก, เสมหะ
         แทบจะไม่มีเชื้อ : อุจจาระ, ปัสสาวะ, เหงื่อ

2. ทำไมน้ำสารคัดหลั่งต่างๆจึงมีปริมาณไวรัสไม่เท่ากัน?

ตอบ. ไวรัสเอชไอวีชอบเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดเพื่อแบ่งตัวและเจริญเติบโต ดังนั้นน้ำสารคัดหลั่งใดที่มีเม็ดเลือดขาวหรือเลือดเข้าไปเกี่ยวข้องจึงมีไวรัสมาก เช่น เลือด, น้ำจากช่องคลอด, ตกขาว, ประจำเดือน, น้ำหนอง, ในทางตรงข้ามน้ำใดไม่มีเลือด หรือไม่มีเม็ดเลือดขาวปะปนก็จะมีปริมาณไวรัสเอชไอวีน้อย เช่น ปัสสาวะ, อุจจาระ และเหงื่อ เป็นต้น

3. เชื้อเอชไอวีอยู่นอกร่างกาย อยู่นานแค่ไหน?

ตอบ. เชื้อเอชไอวีร้ายก็จริงแต่ใจเสาะครับ ไม่สามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมภายนอกได้ โดยทั่วไปมันจะอยู่ได้เป็นชั่วโมงหรือแค่ไม่เกินวัน ทั้งนี้อยู่ที่สิ่งแวดล้อม ถ้าถูกความร้อน ความแห้ง กรดด่างหรือแสงแดดก็หงิกแล้ว แต่ถ้าได้ที่เหมาะสมๆ มีความชื้นดีๆ หรือห้องแอร์ที่เย็นจัด (ราวๆ 20 องศาเซลเซียส) ก็อยู่ได้ หลายวันแต่ไม่ถึงสัปดาห์

4. เชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายสัตว์อื่นได้หรือไม่?

ตอบ. มีคนกับลิงบางชนิดเท่านั้นที่เชื้อเอชไอวีจะมีชีวิตอยู่ได้ เชื้อเอชไอวีไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ในสัตว์อื่น เช่น สุนัข,แมว,วัว,ควายหรือแม้แต่ยุง เชื้อก็จะตายภายในเวลาไม่นานนัก ดังนั้นยุงที่มาดูดเลือดคนมีเชื้อเอดส์ เชื้อก็จะตาย เชื้อในตัวยุงไม่สามารถติดต่อไปยังคนอื่นที่ถูกยุงกัดได้

5. เชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ติดต่อได้กี่ทาง?

ตอบ. โดยหลัก ๆ ก็มี 3 ทาง
1. เลือดและการถ่ายเลือด รวมทั้งใช้เข็มร่วมกัน เครื่องมือที่ไม่สะอาดมีคราบเลือดปนเปื้อนหรือมีบาดแผลแล้วไปสัมผัสกับเลือด หรือน้ำเหลืองของคนมีเชื้อเอชไอวี
2. ทางการร่วมเพศ รวมทั้งการร่วมเพศระหว่างชายหญิง,ชายกับชาย,โดยร่วมเพศทางช่องคลอดหรือทาง ทวารหนัก ทั้งนี้รวมทั้ง Oral sex โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปากกับอวัยวะเพศชายที่มีเชื้อเอชไอวี
3. จากมารดาสู่ทารก (Vertical Transmission) ส่วนใหญ่จะติดระหว่างการคลอด และส่วนน้อยที่ติดระหว่างอยู่ในครรภ์และระหว่างให้ลูกดูดนมแม่


6. แบบไหนเสี่ยงมากที่สุด?

ตอบ. 1. รับเลือดครับ โดยเฉพาะรับการถ่ายเลือดทั้งขวดติดเกือบ100% แต่ปัจจุบันนี้เลือดทุกขวดได้รับการตรวจอย่างดีแล้วดังนั้นจึงไม่ต้องกังวล
2. ส่วนการร่วมเพศ โอกาสติดต่อน้อยกว่าเลือดขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น การร่วมเพศทางทวารหนักจะมีโอกาสติดสูงกว่าทางช่องคลอดและทางปากตามลำดับ และผู้ที่เป็นฝ่ายรับก็จะมีโอกาศติดเชื้อมากกว่าผู้สอดใส่
3. ส่วนการติดจากแม่ไปสู่ลูก ถ้าแม่ไม่ไดรับยาต้านเอดส์ระหว่างตั้งครรภ์ลูกมีโอกาสติด 22% แต่ถ้ารับยาระหว่างฝากครรภ์โอกาสเหลือ 6% และถ้าไม่ได้กินนมแม่ด้วย โอกาสก็ลดลงอีก


7. สาเหตุการแพร่เชื้อมากที่สุด?

ตอบ. แม้การให้เลือดมีโอกาสติดต่อสูงมากแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุการแพร่เชื้อมากที่สุด เพราะการให้เลือดไม่บ่อยและปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวีในเลือดทุกถุง แต่การมีเพศสัมพันธ์นั้นเมื่อเทียบกับการบริจาคเลือดมีแนวโน้มที่จะมีการกระทำที่บ่อยที่สุด จึงเป็นสาเหตุการแพร่เชื้อมากที่สุด

8. นอกเหนือ 3 ทางหลักที่ติดต่อแล้วมีทางอื่นอีกไหม?

ตอบ. มีครับ แต่ก็น้อยเช่น การปลูกถ่ายอวัยวะ เปลี่ยนไต, ปลูกถ่ายไขกระดูก, ผสมเทียม ที่ใช้อสุจิผู้อื่นที่ไม่ใช่สามี โดยไม่ตรวจเลือดเจ้าของอสุจิก่อน, ฝังเข็ม, เจาะหู, สักยันต์, การใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น มีดโกน

9. ติดหรือไม่มีติด มีปัจจัยอะไรบ้าง?

ตอบ. เชื้อเอชไอวีไม่ได้ติดกันง่ายๆ อย่างที่เข้าใจกัน ขนาดไปยุ่งกับคนมีเชื้อเอชไอวีก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องติดเสมอไป มันมีปัจจัยมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV Viral Load) ถ้าสิ่งสัมผัสนั้นมีปริมาณไวรัสมาก โอกาสติดเชื้อก็มาก ถ้ามีไวรัสน้อยโอกาสติดเชื้อก็น้อย
ปริมาณไวรัสเอชไอวีเรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ เลือด, น้ำอสุจิ, น้ำจากช่องคลอด, บาดแผล ผิวหน้ามีหน้าที่ปกป้องร่างกายไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย แต่ถ้าผิวหนังมีรอยแตกเป็นแผลก็มีโอกาสที่ส่วนเยื่อบุต่างๆเป็นเยื่อบางๆ เช่น เยื่อบุในปาก ตา ช่องคลอด มีโอกาสเป็นรอยแผลเล็กๆได้จึงต้องระมัดระวังอย่าให้เข้าปากเข้าตา (เห็นหนังฝรั่งที่เขาใส่แว่นตาดำไหมครับ, หมอใช้ผ้าปิดปาก) แผลจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น แผลเริม แผลริมอ่อน แผลซิฟิลิส ก็เป็นแหล่งรอรับเชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน ความบ่อยในการสัมผัส ร่วมเพศกับคนที่มีเอชไอวีครั้งเดียวอาจจะไม่ติดก็ได้ หรือถูกเข็มตำครั้งเดียวก็อาจจะไม่ติดก็ได้เช่นกัน ซึ่งขึ้นกับปัจจัยอื่นประกอบด้วย

10. พ่อเป็นเอดส์แต่แม่ไม่เป็น ลูกเป็นไหม?

ตอบ. ไม่เป็นครับ ลูกที่ติดเอชไอวีจะต้องติดจากแม่เท่านั้น เชื้ออสุจิจากพ่อไม่มีเชื้อเอชไอวี (ยกเว้นน้ำอสุจิ)

11. นมแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีติดลูกไหม?

ตอบ. ติดครับ เดี๋ยวนี้เขาห้ามแม่ที่มีเชื้อเอดส์ให้ลูกดูดนม แต่ให้ใช้นมผงแทน

12. อยู่บ้านเดียวกัน จะติดเชื้อเอชไอวีไหม?

ตอบ. ถ้าไม่มีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ติด ถ้าเพียงแค่อยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวด้วยกัน จับมือถูกเนื้อต้องตัวตามปกติ นอนเตียงเดียวกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ซักเสื้อผ้าร่วมกัน แค่นี้ไม่ติดครับ

13. คู่นอนมีเชื้อเอชไอวีมีโอกาสติดเรามากแค่ไหน?

ตอบ. โอกาสรับเชื้อมีมาก คำว่ามีมากก็ไม่ได้แปลว่าต้องติดเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่การใช้ถุงยางอนามัยป้องกันก็ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อได้ นอกจากนั้นถ้าหากว่าคู่นอนที่รับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอจนมีปริมาณเชื้อไวรัสต่ำโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อติดต่อไปยังคนอื่นก็น้อยลงเช่นกันครับนอกจากนั้นการคนที่จะติดเชื้อต้องมีการกระทำที่"บ่อยครั้ง" หรือ"ซ้ำซาก" และขึ้นอยู่กับระยะเวลาด้วย และยังขึ้นอยู่กับช่องทางการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการร่วมเพศครั้งเดียวกับคนมีเชื้ออาจติดเอชไอวีก็ได้ ไม่ติดก็ได้ แบบซื้อลอตเตอรี่นั่นแหละครับ อาจถูกก็ได้ ไม่ถูกก็ได้ (แต่ติดเอดส์มีโอกาสมากกว่าถูกล็อตเตอรี่นะครับ) อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ใช่ภรรยาหรือสามีละก้อใส่ถุงยางอนามัยดีที่สุด เพราะพลาดแล้วไม่มีโอกาสแก้ตัวอย่าเสี่ยงดีกว่า


14. จูบคุณคิดว่าไม่สำคัญ?

ตอบ. ก็ไม่สำคัญจริงๆแหละ ในน้ำลายมีปริมาณเชื้อน้อย จูบธรรมดาไม่ติดหรอกครับ มีคนคำนวณว่าปริมาณน้ำลายที่มีเชื้อพอที่จะติดต่อกัน ต้องมีอย่างน้อย 1 ขวดลิตร


15. ลงอ่างติดเอชไอวีไหม?

ตอบ. ปกติเชื้อไวรัสเอชไอวีมักใจเสาะ โดนน้ำอุ่นในอ่าง โดนสบู่จำนวนไวรัสก็ตายไปแยะแล้ว ยิ่งเจอน้ำประปาในเมืองไทยกลิ่นคลอรีนคลุ้งไปหมดเชื้อเอชไอวีก็อยู่ไม่ได้แล้ว ดังนั้นถ้าไปอาบน้ำเฉยๆ ก็สบายใจได้เลยครับ

16. ใช้ห้องน้ำร่วมกับคนมีเชื้อเอชไอวี..ติดไหม?

ตอบ. อุจจาระและน้ำปัสสาวะมีปริมาณไวรัสที่น้อยมากจนไม่สามารถติดต่อกันได้ ดีไม่ดีโดนน้ำยาฆ่าเชื้อก็หงิกไปเลย ส่วนน้ำอสุจิหรือน้ำจากช่องคลอดก็ไม่สามารถอยู่ในห้องน้ำได้นาน แม้จะสัมผัสถูกผิวหนังบางส่วนนอกร่างกายก็ไม่สามารถผ่านสู่ร่างกายได้ อย่างไรก็ตามการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำทำความสะอาดเป็นครั้งคราวก็ช่วยได้เยอะ เพราะน้ำยาเหล่านี้เป็นตัวฆ่าเชื้อเอชไอวีโดยตรงทีเดียว


17. กินอาหารกับคนมีเชื้อเอดส์ ติดไหม?

ตอบ. ไม่ติดครับ น้ำลายมีปริมาณเชื้อน้อยมากจนไม่สามารถติดต่อกันได้ และถ้าเป็นอาหารร้อนๆยิ่งทำให้เชื้อเอชไอวีตายเร็วขึ้น แม้เชื้อเอชไอวีจะลงสู่กระเพาะก็จะโดนกรดในกระเพาะทำลายไป ยังไม่เคยมีรายงานว่ามีคนติดเชื้อเอชไอวีโดยวิธีนี้ ถ้ากลัวมากใช้ช้อนกลางครับ


18. คนทำอาหารมีเลือดออก จะติดไหม?

ตอบ. เลือดที่หยดลงอาหาร ถ้าอาหารนั้นได้ผ่านการอุ่นหรือหรือทำให้ร้อน 50 องศาเซลเซียส นานกว่า 15 นาที เชื้อเอชไอวีก็ตายหมดแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้อุ่นก็มีสิทธิ์ได้ (แต่ไม่มาก) ถ้าปากเรา ฟันเรา เหงือกเรา ไม่มีแผล ไม่ผุไม่อักเสบ ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าไหร่


19. ในสระว่ายน้ำด้วยกัน จะติดไหม?

ตอบ. แม้จะมีเลือด น้ำเหลือง หรือน้ำอสุจิ หรือน้ำจากช่องคลอด น้ำปัสสาวะลงไปในสระ มันก็จะถูกเจือจาง ไปจนปริมาณไม่เข้มข้นพอที่จะติดต่อได้ และคลอรีนในสระก็เป็นตัวฆ่าเชื้อโรค ที่ดีอีกด้วย ไม่มีอะไรต้องห่วงครับ

20. ยุงกัด ติดไหม?

ตอบ. ยุงไม่ใช่พาหะนำเชื้อเอชไอวีได้ เหมือนยุงลายนำเชื้อไข้เลือดออก หรือยุงก้นปล่องนำเชื้อมาลาเรีย เชื้อเอชไอวีเองก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงได้นานเมื่อยุงดูดเลือดคนที่มีเชื้อเอชไอวีไปแล้วไม่นานเชื้อจะตายอยู่ในกระเพาะยุง เมื่อยุงไปกัดคนอื่นก็ไม่ติดต่อ อีกอย่างเชื้อเอชไอวีไม่สามารถแบ่งตัวหรือเจริญเติบโตในกระเพาะยุงได้ จึงไม่สามารถเล็ดลอดไปสู่น้ำลายยุง จึงไม่ติดต่อ แล้วปากยุงที่เพิ่งกัดคนมีเลือดเอชไอวีบวกล่ะ ข้อนั้นไม่ต้องห่วงเพราะปากยุงมักไม่มีเลือดติดอยู่หรือ แม้จะมีก็น้อยมาก ไม่เหมือนเข็มฉีดยา ที่อาจมีเลือดติดซ่อนอยู่ได้ ดังนั้นถึงแม้จะกัดคนหลายคนก็ไม่ติดครับ เคยมีการศึกษาให้ยุงไปกัดคนที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากนั้น 4 ชั่วโมง

21. คนบ้าเที่ยวเอาเข็มมาไล่ทิ่มชาวบ้าน จะติดไหม?

ตอบ. ถ้าคนบ้านั้นมีเชื้อเอชไอวีใช้เข็มทิ่มแทงตัวเองมีเลือดสดๆติดอยู่ก็มีสิทธิ์ติด แต่ถ้าเข็มที่โดนเลือดมานานเป็นชั่วโมงปริมาณเชื้อก็จะตายไปแยะ โอกาสติดก็น้อยลงครับ

22. ใช้เสื้อผ้าร่วมกับคนมีเชื้อเอดส์ติดไหม?

ตอบ. ไม่ติดแน่นอน ไม่ว่าเสื้อผ้านั้นจะซักหรือไม่ซักก็ตาม เพราะเหงื่อ (หรืออาจมีน้ำลายด้วย) ไม่มีปริมาณมากพอที่จะก่อโรคได้ (แม้เรามีแผลก็ตาม) ยิ่งถ้าได้ซักก่อนโดนผงซักฟอก โดนเครื่องซักผ้าหมุนติ้วอย่างนั้นก็เวียนหัวตายไปแล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง                สถิติของกรมควบคุมโรคพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยปีน...