วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การตรวจเลือดเอดส์ เพื่อหาเชื้อ HIV ตรวจกันอย่างไร? แบบใดบ้าง?

รับเชื้อมาแล้ว เชื้อไปไหนบ้าง



               เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย มันก็ถูกเม็ดเลือดขาวจับกิน ถ้าเป็นเชื้ออื่นก็โดนเขมือบเรียบร้อย แต่นี่เพราะมันคือเอดส์ วายร้ายไวรัสเอดส์ก็จัดการก็อปปี้ตัวเอง จนเป็นไวรัสตัวใหม่แล้วก็ก็อปปี้ๆๆๆ จนเม็ดเลือดขาวแตกตาย มันก็ออกมาเวียนว่ายอยู่ในกระแสเลือด (แล้วก็ไปโจมตีเม็ดเลือดขาวตัวอื่นต่อไป) ถึงตอนนี้ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทาน (Antibody) ขึ้นมาช่วงระยะเวลาจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จนเชื้อไวรัสออกสู่กระแสเลือด ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 6 สัปดาห์ ช่วงนี้ถ้าจะตรวจหาว่ามีเชื้อเอดส์หรือไม่ ก็สามารถตรวจได้ โดยตรวจ “แอนติเจน”กว่าร่างกายจะสร้างแอนติบอดี ก็ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ดังนั้น ถ้าจะตรวจแอนติบอดีได้ อย่างเร็วที่สุดก็ 3 สัปดาห์ (ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะมีแอนติบอดีขึ้นเร็วอย่างนี้เสมอไป)

ตรวจเลือดเอดส์ เขาตรวจอะไร ?

               การตรวจว่ารับเชื้อเอดส์มาหรือไม่ มีวิธีตรวจได้ สองอย่าง คือตรวจแอนติเจนกับตรวจแอนติบอดี แต่การตรวจแอนติเจนนั้นยุ่งยาก ใช้เครื่องมือซับซ้อน ราคาแพง ใช้เวลานาน จึงไม่นิยมตรวจ เป็นตัวเลือกแรก เหมือนการตรวจแอนติบอดี ซึ่งตรวจได้ง่าย ราคาถูก ได้ผลเร็ว เชื่อถือได้ค่อนข้างแน่นอน

ตรวจเลือดเอดส์มีกี่แบบ


1. การตรวจหาแอนติบอดีต่อ HIV (Anti-HIV antibody)


               1.1 ELISA : เป็นการ “ตรวจคัดกรอง” (screening test) ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ทำได้ง่าย ไม่แพง มีความไวมาก ความแม่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าตรวจแล้วให้ผลบวกสองครั้ง จากน้ำยาของต่างบริษัท ก็ค่อนข้างมั่นใจได้ แต่การจะบอกว่าใครเลือดบวกเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจะต้องตรวจยืนยันด้วยวิธีอื่นที่จำเพาะกว่าอีกครั้งก่อน ผลบวกปลอม มีไหม ? มีครับ แต่ก็น้อยยยยยยย แล้วปลอมมาจากไหน ก็จากแอนติบอดีต่อกล้ามเนื้อเรียบ ต่อไมโตคอนเดรียในเซลล์ของร่างกาย ต่อไวรัสชนิดอื่นที่คล้ายกัน ฯลฯ

               ผลลบปลอมมีไหม ? (ติดเชื้อ แต่ผลตรวจเป็นลบ) ก็มีครับ แต่ก็น้อยยยยย โดยเฉพาะพวกใจร้อน เพิ่งรับเชื้อมา ก็รีบตรวจ แอนติบอดียังไม่ขึ้น จึงยังให้ผลเป็นลบ เรียกระยะนี้ว่า Window period

               1.2 Western blot assay : เป็นการ “ตรวจยืนยัน” (Confirmatory test) การติดเชื้อ HIV ที่นิยมมากที่สุด เพราะมีความไว และความแม่นยำสูงกว่าวิธี ELISA แต่ราคาแพงกว่า ใช้เวลามากกว่า ทำยากกว่า ถ้าอย่างนั้น Western blot assay ก็เชื่อถือได้ ถ้าให้ผลเป็นบวกมันก็ต้องบวกแน่ๆซิ …เปล่าครับ ผลบวกปลอมก็มี แต่ก็น้อยยยยยยยยยยยนิด (จริงๆ)

               1.3 Indirect immunofluorescent assay (IFA) : เป็นการตรวจหาแอนติบอดี เหมือน Western blot เพียงแต่การอ่านผล อ่านจากดูการเรืองแสง แทนการนับสารรังสีใน Western blot มีความไวและความแม่นพอๆกัน

               1.4 Radioimmunoprecipitation assay (RIPA) : เป็นการหาแอนติบอดีอีกวิธี ที่ให้ผลไวกว่า Western blot แต่ทำยากมักใช้ในงานวิจัยเท่านั้น

2. การตรวจหาแอนติเจน


               ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจหา p24 antigen ในเลือดด้วยวิธี ELISA สามารถตรวจหาตัวเชื้อ ในช่วงที่แอนติบอดียังไม่ขึ้น หรือที่เรียก window period แต่ก็มีข้อเสียคือความไวยังน้อย (คือตรวจไม่ค่อยเจอ) และไม่เหมาะที่จะใช้เป็นวิธีคัดกรอง (screening test)

3. การเพาะเชื้อไวรัส HIV


               ทำยาก ราคาแพง ความไวน้อย แต่ถ้าให้ผลบวก ก็ถือว่าชัวร์ที่สุด

4. การตรวจหา DNA ของไวรัส


               วิธีนี้คือการหาโดยอาศัยการเพิ่มปริมาณ DNA เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction) ตรวจได้แม้จะมีปริมาณ DNA เพียงน้อยนิด (มีความไวสูง) ความชัวร์เชื่อถือได้แน่นอน ถือเป็นวิธีการ “ตรวจยืนยัน” ที่แน่นอนที่สุด

5. Nucleic Acid Amplification Testing (NAT)


               การตรวจหาเชื้อเอชไอวีแบบใหม่ล่าสุดในปัจจุบัน คือ เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ หรือมีความกังวลหลังจากมีความเสี่ยงมา โดยที่นวัตกรรมนี้มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และแม่นยำมาก ท่านไม่จำเป็นต้องรอระยะเวลาถึงหนึ่งเดือนอย่างที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะตรวจพบโดยแนท ที่ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังไปเสี่ยงมา เพราะ “แนท” คือ วิธีการตรวจเลือดที่มีความไวกว่าวิธีการเดิม คือ แอนติ-เอชไอวี ที่ต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้นเคยต่อต้านเชื้อแล้วจึงตรวจพบ ซึ่งวิธีการ “แนท” นี้ ทำงานด้วยการตรวจเพื่อหาตัวเชื้อเอชไอวีโดยตรง ฉะนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องรออีกต่อไปหลังได้รับความเสี่ยงมา

               วิธีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่ผ่านมานั้น คือ วิธีการตรวจแบบการหาแอนติบอดี คือ การตรวจหาการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อของร่างกาย ดังนั้น ปัญหาของวิธีนี้คือ ร่างกายต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการตรวจหาเชื้อไวรัส แล้วจึงสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อ และช่วงเวลาตั้งแต่ที่เราได้รับเชื้อมา จนถึงช่วงที่ร่างกายสร้างภูมินี้เองที่เราเรียกกันว่า ระยะฟักตัว หรือ (Window Period)ด้วยเหตุนี้ “แนท” จึงเป็นการช่วยร่นระยะเวลาฟักตัว และจะทำให้เรารู้เร็ว ไม่ต้องรอ หมดกังวล และเมื่อรู้แต่เนิ่นๆ เราก็ดูแลตัวเองได้เร็ว และยังยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที เพราะประโยชน์ของ “แนท” คือ แม่นยำ และรวดเร็วกว่าการตรวจแบบทั่วไปที่ตรวจหาแอนติบอดีที่ต้องใช้เวลารอหลังเสี่ยง 2 – 12 สัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง

ผู้ติดเชื้อ "เอชไอวี" รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง                สถิติของกรมควบคุมโรคพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยปีน...